นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เมือเร็ว ๆ นี้ได้ทำความร่วมมือกับสตาร์ฟิชแลป ทำการวิจัยผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดการเรียนการสอน ตามตัวชี้วัดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว 9/2564) เพื่อนำข้อสรุปที่ได้มาปรับตัวชี้วัดการประเมินให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เกิดขึ้นกับเด็ก ทั้งนี้ สำนักงานก.ค.ศ.จะทำการทดลองเพื่อให้มีฐานข้อมูลทางวิชาการรองรับในการปรับตัวชี้วัดการประเมินวิทยฐานะ ใน 20 โรงเรียนทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยให้ครูทดลองสอนตามตัวชี้วัดของการประเมิน และใช้AI ในการวิเคราะห์สมรรถนะเด็กที่เกิดขึ้นจากการสอน เพื่อนำผลที่ได้มาดูว่าตัวชี้วัดที่ออกแบบมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเด็กที่เป็นผลลัพธ์ทางการเรียนหรือไม่ โดยผลวิจัยดังกล่าว จะถูกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2567 นี้
นายประวิต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของการประเมิน ตามระบบประเมินวิทยฐานะดิจิทัลหรือ DPA นั้น ล่าสุด มีผู้ยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะแล้ว กว่า 70,000 ราย ประเมินเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 67,000 ราย ผ่านประเมิน 62,289 ราย ไม่ผ่าน 5,521 ราย อยู่ระหว่างการประเมิน 1,225 ราย รอเขาคณะอนุกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) สุ่มเลือกกรรมการประเมินอีก 2,628 ราย ทั้งนี้เมื่อเทียบการประเมินระบบDPA กับระบบการประเมินแบบเดิม ถือว่าใช้เวลาพิจารณาเร็วขึ้น โดยเฉลี่ยรู้ผลภายใน 3 เดือน เร็วสุดคือ17 วัน รวมถึงยังประหยัดงบประมาณไปได้มาก จากเดิมที่ใช้ปีละเกือบ 1,000 ล้านบาท เหลือเพียงปีละ 80 ล้านบาท
เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการย้ายครูตามระบบจับคู่ครูคืนถิ่น หรือTMS ซึ่งปิดลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมานั้น มีครูลงทะเบียนทั้งหมด 2,867 ราย จับคู่แล้ว 410 ราย รอยืนยันการจับคู่ 1,362 ราย เมื่อจับคู่เรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ โดยคาดว่า จับคู่ย้ายเรียบร้อยภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนความคืบหน้า การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อรองรับการดำเนินการย้ายผ่านระบบย้ายข้าราชการครู Teacher Rotation System (TRS) นั้น คณะกรรมการก.ค.ศ. ที่มีพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. เป็นประธาน เห็นชอบแล้ว หากได้รับงบประมาณก็สามารถดำเนินการได้ทันที
“นอกจากนี้ สำนักงานก.ค.ศ. ยังเตรียมจัดทำระบบควบคุมอัตรากำลังในโรงเรียน หรือ school Capacity system หรือ SCS ซึ่งต่อไปทั้ง 245 เขตพื้นที่ฯ จะต้องคีย์ข้อมูลนักเรียนที่ได้ข้อสรุปทุกวันที่ 10 มิถุนายน ของทุกปี เข้ามาในระบบเพื่อให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เห็นชอบอัตรากำลัง ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลกลาง ซึ่งจะทำให้รู้ว่า แต่ละโรงเรียนขาดครูในสาขาใด เป็นข้อมูลที่ทุกหน่วยงานสามารถตรวจสอบได้ และมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ” นายประวิต กล่าว