สพฐ.ร่อนแนวปฏิบัติ ‘1 ธุรการควบ 2 ร.ร.’ เหตุทั่วประเทศยังขาดแคลนกว่า 7 พันอัตรา เล็งแก้ระเบียบ ‘จับคู่ย้ายครู’ หลังปัญหาโผล่
นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับทราบ โดยเฉพาะการจับคู่ย้ายครูคืนถิ่น ผ่านระบบ TMS หรือ Teacher Matching System ซึ่งวันนี้หลายเขตพื้นที่ฯ ได้ดำเนินการย้ายตามความต้องการของครูแล้ว แต่ยังมีปัญหาบางส่วนในทางปฏิบัติ เช่น จับคู่ได้แล้ว แต่ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในโรงเรียนที่เกินเกณฑ์ ก็ไม่สามารถย้ายได้ เป็นต้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะรวบรวมปัญหาทั้งหมด ที่ผู้อำนวยการ สพท.ได้สะท้อนมา เพื่อนำไปปรับแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายพัฒนะกล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการจัดสรรอัตรานักการภารโรงนั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบจัดสรรนักการภารโรงให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนแล้ว 14,210 อัตรา ในปีงบประมาณ 2567 ส่วนตำแหน่งธุรการที่ยังขาดแคลนอยู่กว่า 7,000 โรง สพฐ.ได้มีหนังสือให้ สพท.ไปบริหารจัดการ โดยแจ้งแนวปฏิบัติให้ สพท.จัดสรรธุรการให้กับโรงเรียน 1 คน ไม่เกิน 2 โรงเรียน ซึ่งปัจจุบัน สพฐ.มีธุรการอยู่กว่า 21,000 คน แต่มีโรงเรียนอยู่ 29,312 แห่ง เท่ากับยังขาดธุรการอีกกว่า 7,000 อัตรา ดังนั้น คิดว่าให้ธุรการ 1 คน ปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 2 โรงเรียน น่าจะเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้ มีระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการทำงาน สามารถลดภาระได้มากขึ้น
“สมัยก่อน สพฐ.ให้ธุรการ 1 คน ปฎิบัติงาน 3-4 โรงเรียน แต่วันนี้ลดเหลือ 2 โรงเรียน ต่อ 1 คน ดังนั้น คิดว่าจะไม่มีปัญหาในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกัน สพฐ.และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้หารือว่าจะทำอย่างไร ให้ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ มีความก้าวหน้าในอาชีพ โดยให้ผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูสามารถไปสอบเป็นครูผู้ช่วย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว16) และในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ว17) ได้ แต่หากไม่มี ก็สามารถสอบในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ที่ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ฯได้อยู่แล้ว” นายพัฒนะ กล่าว
นายพัฒนะกล่าวต่อว่า ส่วนการบริหารอัตรากำลังนั้น ตอนนี้หลายโรงเรียน และหลายเขตพื้นที่ฯ มีทั้งอัตราขาด และเกิน ฉะนั้น หลังจากการย้ายในรอบนี้ ขอให้ผู้อำนวยการ สพท.ปรับอัตรากำลังให้โรงเรียนที่ขาด เพราะที่ผ่านมา สพฐ.เป็นจำเลยสังคม ว่าไม่สามารถจัดสรรอัตรากำลังให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนได้ ส่งผลต่อคะแนนประเมินต่างๆ ทั้งผลประเมินโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA และคะแนนการสอบวัดความสามารถพื้นฐานผู้เรียนระดับชาติ หรือ NT ที่ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น ฝากให้ผู้อำนวยการ สพท.ช่วยปรับอัตรากำลัง และพยายามเกลี่ยให้แต่ละโรงเรียนใกล้เคียงกับอัตราที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด เพื่อให้นักเรียนได้รับการจัดการเรียนการสอบอย่างเต็มความสามารถ