มติชนมติครู : วิชาประวัติศาสตร์ไทย กระแสบนความท้าทาย

มติชนมติครู : วิชาประวัติศาสตร์ไทย กระแสบนความท้าทาย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการพยายามที่จะผลักดันให้วิชาประวัติศาสตร์กลับมาเป็นหนึ่งในสาระการเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมให้เด็กและเยาวชน ซึมชับ และตระหนักในความเป็นไทยอยู่เนืองๆ แต่จะด้วยกระแส หรือปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือความไม่พร้อม ทำให้การผลักดันยังไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงการจัดการเรียนรู้ในมิติที่เกี่ยวกับความเป็นไทย ผ่านการถ่ายทอดของครูในทุกช่วงชั้น จึงเป็นประเด็น และมีคำถามตามมาว่า ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว ประกอบกับปัจจุบันคนรุ่นใหม่ (บางกลุ่ม) มีการแสดงออกในลักษณะที่ต่อต้าน และไม่ยอมรับกับเนื้อหาสาระที่คนรุ่นเก่ากำหนด หรือชี้นำ จึงมีคำถามตามมาว่ากระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดทิศทาง หรือจะทำอย่างไร เพื่อให้นโยบายเดินหน้าภายใต้การยอมรับ และพร้อมที่จะเรียนรู้

ยิ่งวันนี้โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่นับวันจะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนของชาติ เข้าใจ เข้าถึง และมีทัศนคติที่ดีอย่างแท้จริง จึงเป็นโจทย์ และการบ้านให้ผู้ออกแบบหลักสูตร หรือสาระการเรียนรู้ ต้องขบคิด และหาคำตอบเพื่อนำไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนที่เป็นเหตุเป็นผล

ADVERTISMENT

ที่น่าสนใจ หากพิจารณาถึงองค์ประกอบ หรือปัจจัยที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ต้องยอมรับว่าครู อาจารย์ หรือบุคลากร ที่จะมาถ่ายทอด ต้องเป็นผู้ที่พร้อม และมีคุณภาพ สามารถประยุกต์ หรือผนวกเอาสื่อยุคดิจิทัลมาเสริมเติมเต็มให้กระบวนการเรียนการสอนมีสีสัน และมีคุณค่าต่อการสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นไทย

ADVERTISMENT

สำหรับวิชาประวัติศาสตร์ไทยนั้น เมื่อกล่าวถึงความสำคัญ ผนวกกับหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 76 พรรษา ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ความตอนหนึ่งว่า “ประเทศไทย บรรพบุรุษของเราสละชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อด้วยชีวิต แต่เสียดายตอนนี้ท่านนายกฯ เขาไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ ฉันก็ไม่เข้าใจ เพราะตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ก็แสนไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไร แต่เราต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่โอ้โห บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดินกว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์…อย่างที่อเมริกาถามไป เขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหนเขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบแผ่นดินนี้รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร …” (มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ 10 เมษายน 2567)

ล่าสุด โจทย์บนความท้าทายในมิติที่เกี่ยวกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ นายสุรศักดิ์ พัน์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมการที่จะผนึกพลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้กิจกรรมการเรียนการสอนประสบความสำเร็จ และเป็นมรรคเป็นผลที่จับต้องได้ ด้วยการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทย

สาระสำคัญของการประชุมเมื่อคลี่เข้าไปดูในเนื้อหา พบว่า ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะ Kick Off การขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ สุโขทัย นครพนม กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และปัตตานี พร้อมกันนั้นในปี 2567 สพฐ.ยังเดินหน้ากิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การพัฒนาครูต้นแบบเทิดทูนสถาบันสำคัญของชาติ และการจัดมหกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองใน 4 ภูมิภาค

จากรูปแบบ และแนวทางที่จะดำเนินการ หากพิจารณาถึงผลสัมฤทธิ์ภายใต้โจทย์บนความท้าทายวันนี้ คงจะไม่สามารถฟันธงได้ว่ารูปแบบ ตลอดจนโยบายที่ผู้เกี่ยวข้องรับลูกไปดำเนินการ จะบรรลุเป้าประสงค์มากน้อยแค่ไหน

แต่หนึ่งในมิติที่ ศธ.และหน่วยงานในสังกัดพึงตระหนัก และสังวร คือทำอย่างไรที่นโยบาย และกระบวนการที่พร้อมไปด้วยสรรพกำลังทั้งคน และเม็ดเงินที่ทุ่มลงไป จะตอบโจทย์ และส่งผลให้เยาวชนของชาติเข้าใจ เข้าถึง สามารถนำองค์ความรู้ และประสบการณ์จากห้องเรียน ไปรังสรรค์เพื่อพัฒนาสังคม และประเทศได้อย่างยั่งยืนสืบไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image