ศธ. จับมือ 13 หน่วยงาน แก้ปัญหาหนี้สินครูครบวงจร หวังลดภาระ-เพิ่มสภาพคล่อง

ศธ. จับมือ 13 หน่วยงาน แก้ปัญหาหนี้สินครูครบวงจร หวังลดภาระ-เพิ่มสภาพคล่องให้ครู

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่หอประชุมคุรุสภา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่าง ศธ. และ 13 ภาคีเครือข่ายทั้งส่วนราชการ สถาบันการเงินหน่วยงาน โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ผู้บริหาร ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ว่า ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและ ศธ. มีความห่วงใยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษา อันเป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิต และยังส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา ที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กนักเรียนและเยาวชน ตามโยบายของรัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ในภาพรวมทั้งประเทศเป็นวาระแห่งชาติ

พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวต่อว่า ขอบคุณ 13 ภาคีเครือข่าย ได้แก่

ADVERTISMENT
  • กระทรวงการคลัง
  • กระทรวงยุติธรรม
  • กรมส่งเสริมสหกรณ์
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  • บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
  • สมาคมธนาคารไทย
  • สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ที่มาลงนามความร่วมมือ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา

ADVERTISMENT

พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาลดความเดือดร้อน โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ทุกส่วนราชการในสังกัด แต่การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วย ศธ.เพียงหน่วยเดียว จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร ดังนั้น การที่ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ จึงเป็นการทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบเพื่อช่วยเหลือให้ครูได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

“การแก้ปัญหาหนี้สินครูมีเป้าหมายเพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะหากครูมีความทุกข์จากการเป็นหนี้สิน ก็คงไม่มีความสุข ที่จะส่งเสริมการศึกษาให้เด็กและเยาวชนของเราเป็นคนดี คนเก่ง ซึ่ง 13 หน่วยงานที่มาลงนามครั้งนี้ก็คิดคล้ายๆ กันจึงมาร่วมมือแก้ปัญหา ซึ่งมีหลายคนบอกว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องยาก และคงเป็นไปไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่า ไม่มีสิ่งใดเกินความพยายามหากเราร่วมมือกัน” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวต่อว่า การลงนามครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู อย่างเป็นรูปธรรม ครูและบุคลากรทางการศึกษามีสภาพคล่องในการชำระหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ เพิ่มสภาพคล่องและความมั่นคงทางการเงิน และจัดสวัสดิการให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาตามหลักธรรมาภิบาล เช่น ส่งเสริมให้มีเงินกู้ข้าราชการดอกเบี้ยต่ำ และสอดคล้องกับศักยภาพ โดยให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐพิจารณาปรับปรุง/กำหนดหลักเกณฑ์ การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระ หนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในแนวทางเดียวกันกับระเบียบ ศธ. ว่าด้วย การหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ตลอดจนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนทางการเงิน และการบริหารจัดการหนี้ ซึ่งทุกฝ่ายตกลงร่วมมือดำเนินงานในลักษณะโครงการและกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ.

ด้านนายสุรศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบ การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาลครั้งนี้ได้มีการกำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน และเป็นการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน และไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก โดยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการปรับปรุง กำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือน เพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และให้สถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อสวัสดิการให้ต่ำลง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ต่ำ

นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้สินครู โดยได้จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูระดับจังหวัด ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษา จัดทำโปรแกรมออนไลน์ที่ชื่อว่า ‘ระบบแก้หนี้ สพฐ. (debt obec)’ สำหรับรับลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา พร้อมทั้งจะจัดเวทีสัมมนา ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างความเข้าใจ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกมิติ ทั้งด้านสวัสดิการและประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และบุคลากรในสังกัดทุกคนอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image