นายวิเลิศ ภูริวัชร รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่สภาจุฬาฯ เห็นชอบให้ตนดำรงอธิการบดีจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ได้วางแนวทางการบริหารงาน โดยบทบาทของมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวค่อนข้างมาก มหาวิทยาลัยในความหมายของประชาชน ไม่ใช่สถาบันที่ให้การศึกษา เฉพาะนิสิต นักศึกษาเท่านั้น แต่จะต้องเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเรียนรู้ ดังนั้น บทบาทของมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นพลังในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พลังในการสรรสร้างให้คนมีทักษะ พลังในการพัฒนาประเทศด้วย เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจะไม่ได้มองแค่การสอนระดับปริญญาตรี โท เอกแล้ว กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่นิสิต นักศึกษาแต่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ การพัฒนาความสามารถและพลังของคน ซึ่งจะพูดถึง Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต การใช้ดิจิทัลในการพัฒนาคน มหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทในการสร้างปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ในการพัฒนา
“ในยุคดิสรัปชั่น ที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิต มหาวิทยาลัยจะไม่ได้เป็นแค่ผู้ใช้เอไอแล้วแต่จะต้องเป็นผู้สร้างเอไอ ในการพัฒนา โดยที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ในโลกของนวัตกรรมและเทคโนโลยีส่วนใหญ่คนไทยจะเป็นผู้ใช้ แต่วันนี้มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้สร้างและผู้ชี้นำ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และนวัตกรรมที่ยกระดับคุณภาพประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ดังนั้นจึงต้องมีกลยุทธ์ในการพัฒนามหาวิทยาลัย สู่ระดับโกลบอลระดับนานาชาติให้มากที่สุด จุฬาฯต้องการเป็น global thai university และเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกด้วย ซึ่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก เพื่อทำให้คนได้รู้จักว่า จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสามารถระดับโลก”นายวิเลิศ กล่าว
รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวตั้งเป้าให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศในการบูรณาข้ามศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อาทิ จุฬาฯไม่ใช่ผลิตวิศวกร ที่รู้แต่เรื่องวิศวะ แต่จะต้องเป็นวิศวกรที่รู้เรื่องบริหาร และเข้าใจว่าโลกจะพัฒนาไปในทิศทางใด โดยในช่วง 4 ปีจากนี้ จุฬาฯ ต้องมีบทบาทในอาเซียนมากขึ้น ให้ประเทศต่าง ๆ วิ่งเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆร่วมกัน ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก