‘จุฬาฯ’ ปลื้มนิสิตเข้าเรียนตามเป้า จี้อว.ลดข้อจำกัดน.ศ.ต่างชาติ

นายวิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯรับนิสิตใหม่ประมาณ 7,500 คน/ปี สำหรับปีการศึกษา 2567 สามารถรับได้เกินเป้าหมายกว่าร้อยละ 3 สาเหตุหลักอาจเพราะจุฬาฯยังได้รับความนิยม อยากเข้ามาเรียน โดยทุกศาสตร์จะมีการปรับเนื้อหาการสอน มาเป็น Mastery Base University คือต้องมีทั้งประสบการณ์ ความฉลาด และแนวคิด ที่สำคัญกิจกรรมต่างๆ ต้องมากขึ้น เช่น กิจกรรมให้นิสิตได้ไปประกวดแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ เป็นต้น

“ในส่วนของการแข่งขันระดับนานาชาติ จุฬาฯจะมีการวิเคราะห์เพื่อพัฒนาทักษะของนิสิตออกไปสู่โลกภายนอก ซึ่งเรื่องนี้อยากจะให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น ขณะที่การรับเด็กต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศไทยต้องลดข้อจำกัดลง และอาจมีเส้นทางให้สามารถมีงานทำในประเทศไทยต่อได้ด้วย รวมถึงสนับสนุน การบูรณาการ การทำงานร่วมกันในแต่ละเรื่อง เช่น การศึกษา ที่เชื่อมโยงนวัตกรรม การจัดสรรงบกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นกับทุกมหาวิทยาลัย” นายวิเลิศกล่าว

“จุฬาฯไม่ใช่เพียงแค่มหาวิทยาลัยสำหรับนิสิต นักศึกษา แต่เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับปวงชนของคนทุกคนมี Live Long Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ศิษย์เก่าจบปริญญาตรีแล้วสามารถกลับมาเรียนต่อได้ เปิดให้เด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือคนทำงานเข้ามาทดลองเรียนปรับตัวให้เป็น Live Long Leading คือเป็นผู้ชี้นำสังคม หาทางแก้ไขปัญหา การปรับตัวแบบนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยมีบทบาท ไม่เสื่อมถอยและตายไป ช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น” นาย วิเลิศกล่าว

นายวิเลิศกล่าวต่อว่า ในส่วนของปัญหาเด็กออกกลางคันหรือเด็กดร็อปเอาต์ ส่วนใหญ่จะพบในระดับคณะ/สาขา กว่าร้อยละ 20 แต่ที่น่าสนใจคือเด็กที่ตัดสินใจออกกลางคันแม้จะออกจากคณะเก่าแต่ยังเลือกเรียนที่จุฬาฯเช่นเดิม

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image