นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ปัญหาขาดแคลนครูมีมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะสาขาวิชาเฉพาะ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ดนตรี รวมถึงยังมีปัญหาขาดแคลนครูในพื้นที่ชนบท เนื่องจากครูผู้ช่วยที่บรรจุครบ 2 จะขอย้ายไปโรงเรียนอื่นที่ดีกว่า ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ครูอัตราจ้างที่สอนอยู่ในโรงเรียนห่างไกล หรือโรงเรียนขนาดเล็ก ได้มีโอกาสสอบคัดเลือกและบรรจุแต่งตั้งโดยวิธีพิเศษ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินและพิจารณา เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และสามารถปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนเหล่านี้ได้ต่อเนื่อง ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการสอบ ว16/2557 หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ เปิดช่องกลุ่มอัตราจ้างอยู่แล้ว แต่การบรรจุพิเศษที่ได้เสนอแนะไปจะเป็นการเปิดโอกาสให้เฉพาะกลุ่มครูอัตราจ้างที่ทำการสอนในโรงเรียนห่างไกลนั้นๆมาเป็นเวลานานโดยไม่มีครูอัตราจ้างจากโรงเรียนอื่นๆเข้ามาร่วมแข่งขัน สาเหตุที่เสนอให้มีการคัดเลือกครูด้วยวิธีพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมาครูกลุ่มนี้ มีเวลาเตรียมตัวสอบบรรจุน้อยกว่า บัณฑิตที่จบใหม่ เพราะต้องปฏิบัติงานสอน ทำให้มีเวลาเตรียมตัวน้อย
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกับยังต้องสร้างแรงจูงใจให้กับครูโดยเพิ่มเงินพิเศษให้ครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งในปัจจุบันครูในแต่ละพื้นที่ยังได้รับอัตราเงินเดือนที่เท่ากันแต่ครูในพื้นที่ชนบทกลับต้องเสียรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงกว่าและการเดินทางที่ลำบากกว่าพื้นที่ในเมือง ซึ่งเงินพิเศษในส่วนนี้จะเป็นการพิจารณาจากพื้นที่ที่ครูไปสอนว่าควรได้เงินพิเศษส่วนนี้เพิ่มเติมเท่าใดเป็นอัตราที่ไม่ตายตัวเหมือนเบี้ยเสี่ยงภัยที่มีอัตราเท่ากันอยู่ที่ 2,500 บาท และหากครูกลุ่มนี้ต้องการย้ายกลับเข้าไปสอนในเมืองให้รับเงินเดือนตามอัตราปกติไม่มีค่าจ้างพิเศษเพิ่มเติม และหากย้ายออกจะมีรายได้ที่น้อยลง เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ครูอยู่ต่อในพื้นที่ขาดแคลนครู รวมถึงใช้เป็นแรงจูงใจ เพิ่มครูในสาขาขาดแคลนด้วย
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาครูเกินในบางสาขาวิชานั้น ในช่วงที่ตนเป็นประธานกมว. ได้เน้นย้ำไปยังมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ว่าจะต้องไม่ผลิตครูในสาขาที่ล้นตลาด โดยขอให้เน้นผลิตในสาขาที่ขาดแคลนและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ ดังนั้นอาจารย์ที่สอนในสาขาเดิม อาจจะต้องไปเรียนเพิ่มเติม และเปิดสอนสาขาที่ขาดแคลนแทน แต่ส่วนใหญ่ยังยึดติดกับการสอนรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นความรู้ที่ล้าสมัยไปแล้ว
“ส่วนตัวมั่นใจว่า ผู้ที่สามารถสอบขึ้นบัญชีครูผู้ช่วยได้ทุกคน จะสามารถเป็นครูที่มีคุณภาพได้ เพราะเป็นการสอบที่มีอัตราการแข่งขันค่อนข้างสูง เช่น บางพื้นที่ต้องการครูจำนวน 10 คนแต่มีคนมาสมัครถึง 10,000 คน แต่ปัญหาสำคัญคือภาระอื่น ๆ ที่ทำให้ครูไม่มีเวลาทุ่มเทกับงานสอน จนทำให้คุณภาพการจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่งผลทำให้ครูเหล่านี้ กลายเป็นครูที่ไม่มีคุณภาพในอนาคต”นายเอกชัย กล่าว