ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ผนึกเฮลท์เอดูเคชั่นฯ-ททท.จัดยิ่งใหญ่ ดันไทยเวลเนสระดับโลก
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวในการเปิดงาน H.E.A.T. International Congress 2024 Wellness Management จัดโดย บริษัท เฮลท์ เอดูเคชั่น แอนด์ อคาเดมิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ มธบ.และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มี พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และเวชศาสตร์ความงาม ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ประธานกิตติมศักดิ์หลักสูตรบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยการแพทย์แบบบูรณาการ (CIMw) มธบ.และ ผศ.ดร.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย ประธานกรรมการบริษัทเฮลท์เอดูเคชั่นฯ ประธานเปิดงาน ว่า งานนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์การแพทย์ และการบริหารธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเวลเนส ผ่านงานอบรมเชิงวิชาการ และเชิงปฏิบัติการที่จะช่วยเพิ่มทักษะความรู้เกี่ยวกับเวชศาสตร์ชะลอวัย เวชศาสตร์ความงาม และแพทย์แผนไทย
ดร.ดาริกากล่าวอีกว่า สำหรับงานในปีนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 ครอบคลุม Wellness Economy ยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เพื่อขยายโอกาสสร้างความร่วมมือกันเชิงธุรกิจระหว่างองค์กรภาครัฐ และเอกชนมุ่งสู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยในฐานะศูนย์กลาง Health and Wellness Tourism ระดับโลก การประชุมครั้งนี้เป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยน พัฒนาองค์ความรู้ จุดประกายความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในด้านสุขภาพระดับนานาชาติ รวมทั้ง การแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก จัดการกับความท้าทายที่เร่งด่วน และร่วมกันติดตามแนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ผ่านการแลกเปลี่ยนในการประชุมทางวิชาการครั้งนี้
“พวกเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์ความรู้การจัดการด้านการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพทั่วโลก การการประชุมครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมเครือข่ายวิชาชีพ แต่ยังส่งเสริมการทำงานร่วมกันทั้งภาควิชาการ และภาควิชาชีพ อันจะสามารถพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างความพร้อมร่วมกันในการจัดการด้านสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการดูแลสุขภาพเชิงรุกด้วยศาสตร์ชะลอวัย (Proactive Anti-Aging) มากขึ้น โดยเปลี่ยนจากแนวทางด้านสุขภาพเชิงรับมาเป็นกลยุทธ์ที่เน้นการป้องกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาวขึ้น” ดร.ดาริกา กล่าว
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันโดยธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะเติบโตเฉลี่ยที่อัตราร้อยละ 20.9 นับเป็นโอกาสอันดียิ่งของประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพสูง เป็นศูนย์กลางของเอเชียด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไทยมีโรงพยาบาลที่ทันสมัย มีคลินิกเสริมความงาม และคลินิกด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยชั้นนำ ที่พร้อมให้บริการลูกค้าต่างชาติจำนวนมาก และยังมี Soft Power ด้าน Wellness ที่โดดเด่นเป็นเอกลัษณ์ ทั้งเรื่องของ สปา แพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย และอาหารไทยที่มีคุณประโยชน์ทางยาและส่งเสริมสุขภาพ
“ปัญหาของธุรกิจด้านสุขภาพในเมืองไทย คือผู้ประกอบการยังขาดองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งศาสตร์ชะลอวัยและการส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้ง ยังขาดแนวคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสินค้าประสบการณ์ Wellness ที่สอดคล้องกับเทรนด์ความต้องการของ Wellness Tourist ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Ambient Wellness การจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ รวมถึง Sustainable Wellness ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคธุรกิจไทยในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ด้าน Wellness Marketing ให้แก่ผู้ประกอบการ และ SME ในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ให้ดำเนิน ตลอดจนการ พัฒนารูปแบบการให้บริการด้วยการประยุกต์เรื่องการดูแลสุขภาพเข้ากับ Soft Power อัตลักษณ์ ภูมิปัญญาไทย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ และความแตกต่างโดดเด่นให้กับบริการ” ผศ.ดร.นพ.พัฒนา กล่าว
พญ.พักตร์พิไล กล่าวบรรยายในหัวข้อ Wellness beyond Physical Health ว่า หากพูดถึงคำจำกัดความของคำว่า Wellness มี 2 ด้านที่สำคัญ ประการแรก เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา และมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีที่เหมาะสม ประการที่ 2 การรักษาสุขภาพที่เน้นสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งขยายไปไกลกว่าสุขภาพกาย และมิติอื่นๆ ที่ทำงานอย่างกลมกลืนไปด้วยกัน เรื่องสุขภาพคือเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งผลลัพธ์ของสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี เป็นเรื่องขององค์รวม
“พื้นฐานของการเกิดโรคเป็นผลจากความเครียด ร้อยละ 75-90 โดยความเครียดสามารถเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแปรปรวน ความเมื่อยล้า น้ำตาลในเลือดสูง และภาวะเมทาบอลิกซินโดรม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจ โรคเบาหวาน รวมถึง ภาวะมีบุตรยาก น้ำหนักเพิ่ม ผมร่วง ฯลฯ ดังนั้น จึงต้องจัดการความเครียด ด้วยการบำรุงร่างกายด้วยการฝึกสติ หรือ Mindfulness การออกกำลังกาย การดูแลด้านโภชนาการ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น” พญ.พักตร์พิไล กล่าว