เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 25 หัวข้อ “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ : Digital War Room” นวัตกรรมจากจุฬาฯ ที่ใช้ชี้จุด คาดคะเน และให้ข้อมูลผู้ประสบอุทกภัยได้อย่างแม่นยำและทันสมัย” เป็นการบูรณาการองค์ความรู้จากนักวิชาการของจุฬาฯ เพื่อป้องกันปัญหาและลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยได้อย่างตรงจุด
โดยนายวิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้น ถือเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น ระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงมีความสำคัญ ดังนั้นจึงมีการดำเนินงานภายใต้แพลตฟอร์มจุฬาฝ่าพิบัติ: ดิจิทัลวอร์รูม (Chula Disaster Soluion Network: Digital War Room) ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1 ระบบการเตือนภัยและขอความช่วยเหลืออย่างเฉพาะเจาะจงตำแหน่ง ด้วยการบูรณาการแผนที่ภูมิสารสนเทศ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งที่มีความอ่อนไหวได้อย่างแม่นยำ และให้คำอธิบายประกอบจากผู้เชี่ยวชาญในวอร์รูม ส่วนที่ 2 ระบบการจัดสรรทรัพยากรให้ตรงตามความต้องการ ทั่วถึงและทันท่วงที ส่วนที่ 3 ระบบการถอดบทเรียนและสร้างการเรียนรู้ ตั้งแต่เรื่องการเตือนภัย การกู้ภัย การขนย้ายและอพยพ การบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟูหลังพิบัติ จนถึงการที่จะเยียวยาธรรมชาติในระยะยาว โดยอาศัยองค์ความรู้จากศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในจุฬาฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย สำหรับนวัตกรรมแพลตฟอร์มสำหรับป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย จุฬาฝ่าพิบัติ: ดิจิทัลวอร์รูมที่นำมาสาธิตในงานเสวนาครั้งนี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการใช้ทำนายพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัยได้อย่างแม่นยำ ซึ่งปัจจุบันถูกนำไปเสริมการช่วยเหลือในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ
นายศิริเดช สุชีวะ รักษาการรองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบจัดการภัยพิบัติจะช่วยลดความสูญเสียทั้งก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดภัยพิบัติ และหลังเกิดภัยพิบัติ โดยแพลตฟอร์มนี้ จะสามารถเตือนภัยได้ ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว โดยอาศัยข้อมูลการวิเคราะห์ จากระบบสารสนเทศ อาทิ สภาพภูมิศาสตร์ ที่มีแนวโน้มสุ่มเสี่ยง การให้ข้อมูล ความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ ใน ระหว่างที่เกิดภัยภิบัติ รวมถึงสามารถชี้แนะได้ถึงจุดที่ใช้อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย มั่นใจว่า ระบบนี้จะช่วยลดความสูญเสียได้อย่างมาก
ด้าน นางใจทิพย์ ณ สงขลา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯใช้มาตรฐานสากลในการจัดการกับภัยพิบัติ คือ 1.ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ 2.ต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด 3.การเยียวยาและการถอดบทเรียนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสำหรับครั้งถัดไป โดยตั้งวอรร์รูม เพื่อทำหน้าที่ดูแลการวางแผนการสื่อสารเชิงรุก โดยในการจัดการภัยพิบัติจะมีผู้ที่คอยอ่านแผนที่และชี้แนะจุดอพยพให้กับผู้ประสบภัย จุฬาได้ประยุกต์จัดทำเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมา โดยนำองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำแผนที่วิเคราะห์เส้นทางน้ำที่จะไหลไปสู่พื้นที่ต่างๆ โดยจะมีผู้นำของแต่ละพื้นที่เป็นผู้ใช้งานและวางแผนจัดการภัยพิบัติอยู่ในวอร์รูมร่วมกับจุฬาฯ ก่อนจะประสานงานส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นให้กับคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการเปิดวอร์รูมเพื่อขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำในการอพยพ ผู้นำในแต่ละพื้นที่จะเป็นผู้รายงานปัญหาภัยพิบัติเข้ามาที่แพลตฟอร์ม หากไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็จะมีสายด่วนเพื่อติดต่อเข้ามาได้เช่นกัน
“ในสถานการณ์จริงผู้นำที่อยู่ในพื้นที่จะประสานติดต่อเข้ามาพร้อมรายงานสถานการณ์ว่าในตอนนั้นเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาบ้างซึ่งฝ่ายวิชาการของจุฬาฯจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำจากการวิเคราะห์ข้อมูลในแผนที่ เช่น ควรจะอพยพไปในพื้นที่ใดเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำที่กำลังไหลมา ซึ่งหากไม่มีการวิเคราะห์การอพยพอาจจะทำให้ไปเจอน้ำที่กำลังไหลมาระลอก2จนเกิดความสูญเสียเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ทางจุฬาฯจะมีข้อมูลของคลังเสบียงสิ่งของเครื่องใช้ที่ถูกบริจาคเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับภัยพิบัติ ซึ่งเมื่อนำมาทำงานร่วมกับการรายงานของผู้นำในพื้นที่ว่ามีความต้องการสิ่งของเครื่องใช้หรืออาหารใดที่ขาดแคลนอยู่บ้าง ทางนักวิชาการก็จะนำข้อมูล ทั้ง 2 ส่วนมาวิเคราะห์และแจกจ่ายเสบียงได้ตามความต้องการ”นางใจทิพย์ กล่าว
ด้าน นายสันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ข้อมูลภูมิประเทศที่ใช้ในการเตือนภัยในแพลตฟอร์มนี้แบ่งออกเป็น ชุดข้อมูลเตือนภัยดินโคลนไหลหลากและน้ำป่า ประกอบด้วย ตำแหน่งรูรั่วของมวลน้ำจากภูเขาสูงที่ราบแนวไหลหลากของมวลน้ำ หมู่บ้านที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติดินโคลนไหลหลาก และชุดข้อมูลเตือนภัยน้ำท่วมประกอบด้วย แนวร่อง แนวเนิน จุดเสี่ยงถนนขาด และจุดแนะนำในการอพยพ นอกจากนี้ยังมีแนวน้ำหลากในกรณีที่น้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนในกรณีที่คันดิน กั้นน้ำแตก ข้อมูลทั้งหมดนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศไทย โดยมีแผนจะจัดทำชุดข้อมูลเพิ่ม เพื่อสื่อสารและเตือนภัยพิบัติอื่นๆ อย่าง ดินถล่ม สึนามิ และแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งหวังให้ประชาชนปลอดภัยมากที่สุด
นายสันติ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ ในแผนที่จะมีเส้นสีน้ำเงินที่แสดงถึงเส้นทางของน้ำที่จะเกิดขึ้นหากเกิดฝนตกหนัก และเส้นสีแดงจะแสดงให้เห็นถึงเส้นทางสันเนินที่น้ำจะไหลออกไปซึ่งเมื่อนำข้อมูลมาประกอบกับสภาวะความเป็นจริง ในภาวะภัยสงบผู้ใช้สามารถตัดสินใจในการเลือกถิ่นฐานเพื่อหลบเส้นทางน้ำได้ แต่ในยามภัยพิบัติเมื่อมีผู้ดูแลในพื้นที่รายงานเข้ามาที่แพลตฟอร์มจะมีนักวิชาการที่คอยวิเคราะห์ข้อมูลให้คำแนะนำในการอพยพและเตือนภัยล่วงหน้ากับพื้นที่อื่นๆที่จะได้รับผลกระทบ
“ข้อมูลทั้งหมดเกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลภูมิประเทศซึ่งมีให้ฟรีทั่วโลก แต่ข้อมูลส่วนนี้จะไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเป็นภาพบ้านเรือนเท่าในแพลตฟอร์ม ซึ่งจุฬาฯนำข้อมูลภูมิประเทศมาประกอบกับข้อมูลทางสารสนเทศจนเกิดเป็นภาพบ้านเรือนที่สามารถบอกลักษณะได้อย่างชัดเจน ในส่วนของการแจ้งเตือนล่วงหน้าจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่าจะเร่งด่วนเพียงใด หากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอยู่ไกลก็จะมีการเตือนล่วงหน้าที่ค่อนข้างนาน แต่บางภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว อาจทำการแจ้งเตือนได้เพียงแค่ 2 นาทีก่อนเกิดเหตุซึ่งเป็นธรรมชาติของภัยพิบัติที่บางอย่างไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้” นายสันติ กล่าว
ทั้งนี้ ประชาชนเข้าไปดูข้อมูลในแพลตฟอร์มได้ภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ ที่ลิงก์ engagement.chula.ac.th