ว.วิศวะ มธบ.รับ ป.โท-เอก ปั้นคนทำงานสู่ ‘ซูเปอร์ ยูสเซอร์’ ด้านเอไอ
ผศ.ดร.นันทิกา ปริญญาพล ผู้อำนวยการหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE : College of Engineering and Technology) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการเรียน และการทำงาน ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นผลมาจากความสามารถของ AI ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการนำไปใช้งานที่ครอบคลุมได้หลากหลายด้าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนยุคนี้ที่ต้องปรับตัว พร้อมเร่งพัฒนาทักษะด้าน AI ในระดับของการรู้จัก และประยุกต์ใช้งาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทั้งด้านประสิทธิภาพของงาน และการบริหารจัดการต้นทุนที่คุ้มค่า
ผศ.ดร.นันทิกากล่าวอีกว่า ความก้าวหน้าของ AI ในวันนี้ เกิดขึ้นแล้วในหลายสายงาน ทั้งด้านการแพทย์ มีการนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ และอ่านค่าฟิล์มเอกซเรย์ MRI หรือ CT-Scan โดยอัลกอริทึม Machine Learning สามารถตรวจจับความผิดปกติในภาพได้ เช่น วินิจฉัยโรคมะเร็งในระยะแรก นอกจากนี้ AI ยังช่วยพยากรณ์โรค และช่วยวางแผนการรักษาส่วนบุคคล AI ถูกนำเข้าไปช่วยในการบริหารจัดการคลังสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ลดลง พยากรณ์ความต้องการสินค้า รวมถึง การตลาดอีคอมเมิร์ซ ในการเจาะลึกถึงความต้องการ จากนั้นนำเสนอสินค้าได้อย่างตรงใจ รวมถึง สายงานด้านการเงินและธนาคาร ที่มีการนำ RPA (Robotic Process Automation) มาใช้ในกระบวนการทำงานซ้ำๆ หรือตรวจจับพฤติพรรมฉ้อโกง วิเคราะห์เครดิตของลูกค้า และให้คำแนะนำการลงทุนผ่านผู้ช่วยเสมือน และแชทบอต เป็นต้น

“จากความสามารถที่มากขึ้น และครอบคลุมหลากหลายด้านของ AI นำไปสู่ข้อกังวลจากคนในสังคมถึง AI กับการเข้ามาแทนที่การทำงานของคนในสาขาอาชีพต่างๆ และเกิดปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากมุมมองแล้ววันนี้ AI ทำงานได้ดี และเก่งในบางเนื้องานเท่านั้น เช่น งานที่ทำแบบเดิมๆ และมีความต่อเนื่อง แต่สำหรับงานที่ใช้ความซับซ้อนที่มากขึ้นหรือไม่คุ้นเคย AI ยังต้องการการพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน AI ยังคงไม่เข้าใจความซับซ้อนของอารมณ์มนุษย์ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวด้วยการพัฒนาความรู้ใหม่ ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทักษะด้าน AI เพื่อให้แน่ใจได้ว่างานที่ทำอยู่นั้นจะไม่ถูกดิสรัปในอนาคต” ผศ.ดร.นันทิกา กล่าว
ผศ.ดร.นันทิกากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จุดเด่น และแนวคิดของการปรับหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ CITE เป็นการปรับเนื้อหารายวิชา เพื่อยกระดับความรู้ด้าน AI ของผู้เรียนไปสู่การใช้งานในระดับซูเปอร์ ยูสเซอร์ ที่นำ AI ไปเป็นเครื่องมือในการทำงานอย่างชาญฉลาด และเกิดประสิทธิภาพ การปรับหลักสูตรครั้งใหม่นี้เป็นการนำ AI เข้ามาเป็นหนึ่งในการเรียนรู้ของทุกแกนวิชาหลัก เช่น การรักษาความปลอดภัยของระบบเครือข่าย หรือ Cyber Security ซึ่งผู้เรียนในหลักสูตรนี้จะมีทักษะในการใช้เครื่องมือ AI กับ Cyber Security อย่างถูกต้องเมื่อถูกโจมตีจากบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อระบบการจัดการที่ดีในการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางธุรกิจ และข้อมูลการเงิน
ผศ.ดร.นันทิกากล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพัฒนาทักษะทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดการชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ครอบคลุมหัวข้อ เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง การเรียนรู้เชิงลึก ประมวลผลภาษาธรรมชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการวิเคราะห์ และใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ รวมถึง การให้ความสำคัญกับจริยธรรมใน AI ซึ่งหลักสูตรเราได้ปรับ และประยุกต์เนื้อหาให้สอดคล้องกับการพัฒนาบุคลากรด้าน AI เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเปิดรับสมัครสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ปีการศึกษา 2568 กลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับหลักสูตรนี้ เป็นคนทำงานในองค์กรภาครัฐ และเอกชน สำหรับผู้สนใจในทุกระดับ ไม่ว่าจะมีพื้นฐานด้านไอทีหรือไม่ กลุ่มผู้เรียนแบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านไอที (Non-IT) และกลุ่มที่มีพื้นฐานด้านไอทีโดยตรง สัดส่วนประมาณ 50:50 หลักสูตรนี้ออกแบบเพื่อผู้เรียนทุกคนได้รับประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง ซึ่งกลุ่ม Non-IT จะได้เสริมทักษะใหม่ที่ช่วยให้ปรับเปลี่ยนสายงานได้อย่างมั่นใจ ขณะที่กลุ่มไอทีจะได้ต่อยอดความรู้เพื่อเสริมศักยภาพ และสร้างความก้าวหน้าในสายงานของตนเอง
“บรรยากาศของการเรียนรู้ที่ CITE เต็มไปด้วยความหลากหลายของมุมมอง และประสบการณ์ของผู้เรียน พร้อมทั้งส่วนสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำโครงการแบบ Project Based ที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจทฤษฎีผ่านการปฏิบัติจริง และต่อยอดความรู้จนเกิดเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ และใช้งานได้จริง รวมทั้ง การบรรยายพิเศษจากบุคลากรที่เชี่ยวชาญ และเป็นตัวจริงด้าน AI มีห้องสมุดที่พร้อมสำหรับการค้นคว้าวิจัย เพื่อให้มั่นใจในการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างโอกาสในตำแหน่งงาน และเพิ่มมูลค่าให้กับผู้เรียนจากทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และ AI พร้อมปลูกฝังหลักจริยธรรมในเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เรียนไม่เพียงเชี่ยวชาญ แต่ยังเข้าใจถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ ผู้สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://cite.dpu.ac.th/” ผศ.ดร.นันทิกา กล่าว