‘บิ๊กอุ้ม’ ปิ๊งไอเดียใช้ข้อสอบ’ปิซ่า’ บรรจุครูผู้ช่วย-เผยยอดเด็กหลุดระบบพุ่ง 3.9 แสนคน
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารศธ. ว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)รายงานความคืบหน้า การพัฒนาระบบการประเมินประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ ปิซ่า โดยสสวท.มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงและจัดทำแบบฝึก จากต้นร่างข้อสอบที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ ส่งให้โรงเรียนต้นสังกัดนำไปฝึกกับนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 ม.4 และ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)1ในภาคเรียนที่ 1/2568 ส่วนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้มีการเตรียมความพร้อมในการนำข้อสอบปิซ่าผ่านการเตรียมความพร้อมการสอบครูผู้ช่วย รวมไปถึงการนำข้อสอบปิซ่ามาเชื่อมโยงกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA อีกด้วย
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล โดยได้มีการมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) จัดทำข้อมูลนักเรียนหลุดออกจากระบบของวันที่ 10 มิถุนายน มาร่วมวิเคราะห์กับข้อมูลของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขณะเดียวกันสป.ได้จัดทำเว็ปไซต์ https://exchange.moe.go.th เพื่อติดตามและอัพเดตข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลแบบเรียลไทม์ โดยทุกหน่วยงานสามารถนำเข้าข้อมูล เชื่อมโยงการติดตามเด็กตกหล่น กับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และ กสศ. เพื่ออัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด
“ทั้งนี้สกร. ได้รายงานว่าเด็กและเยาวชนอายุ 6-18 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับมีจำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน แบ่งเป็นเด็กสัญชาติไทย 190,934 คน และเด็กต่างชาติ 203,105 คน โดยศธ.ให้ความสำคัญในการดึงเด็กสัญชาติไทยกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ครบถ้วน ในขณะที่สำหรับเด็กต่างชาติ ศธ.จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เนื่องจากตามกฎหมาย ศธ.ไม่มีอำนาจบังคับให้เด็กกลุ่มนี้กลับมาเรียนได้ จึงต้องทำให้เด็กเกิดความสมัครใจและประสงค์กลับเข้ามาเรียน”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในที่ประชุม สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ยังรายงานผลการประเมินคุณภาพสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3,025 โรงเรียน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการประเมิน และตั้งเป้าให้มีสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินเพิ่มเป็น 50,000 โรงเรียน