จุฬาฯ-มหิดล จัดงาน Together for Sustainable Tomorrow

จุฬาฯ – ม.มหิดล จัดงาน Together for Sustainable Tomorrow ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย นวัตกรรม และกิจกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “จุฬาฯ – มหาวิทยาลัยมหิดล” Together for Sustainable Tomorrow เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 – 15.15 น. ณ ห้อง The Meeting Room ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ โดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรม จัดกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งร่วมเสวนาในหัวข้อ Together for Sustainable Tomorrow”

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.วิเลิศ   ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้     มี ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสักขีพยาน วัตถุประสงค์หลักของความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาบุคลากร นิสิต นักศึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะชีวิตและความเป็นผู้นำ ส่งเสริมการจัดกิจกรรมด้านวิชาการ กิจกรรมสำหรับนิสิต นักศึกษา และการประชุมสัมมนาระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนสนับสนุนโครงการวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมอาสาสมัครและกิจกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและการพัฒนาความยั่งยืน รวมทั้งพัฒนากิจกรรมที่สร้างสรรค์สำหรับนิสิต นักศึกษาในการเสริมสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และการมีส่วนร่วมในชุมชน

ADVERTISMENT

จากนั้น อธิการบดีจุฬาฯ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ Together for Sustainable Tomorrow” โดยเน้นย้ำบทบาทและเป้าหมายของสองมหาวิทยาลัย นโยบายต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การส่งเสริม พัฒนา และสร้างความยั่งยืนให้แก่วงการศึกษาและสังคมไทย ความท้าทายในการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) นโยบายและกลยุทธ์ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกันในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน และการต่อยอดไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะยาว

ADVERTISMENT

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคณาจารย์และบุคลากรเท่านั้น แต่นิสิตมีส่วนร่วมที่สำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดลมีปณิธานร่วมกันที่มุ่งหวังให้ความยั่งยืนหรือ Sustainability เป็นเรื่องของความรู้สึกและจิตใจของนิสิตนักศึกษา ที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญควบคู่กับคุณภาพของการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย โครงการความร่วมมือระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัยในโครงการนี้นอกเหนือจากโครงการวิจัยร่วมกันซึ่งจุฬาฯ และมหิดลได้ดำเนินการอยู่แล้ว ภายใต้โครงการความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีโครงการวิจัยในระดับลึกมากขึ้น โดยมีนวัตกรรมและ AI ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้นจะมีกิจกรรมในลักษณะกิจกรรมประเพณีเพื่อสังคมระหว่างจุฬาฯ และมหิดลซึ่งจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2568

ศ.ดร.วิเลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการความร่วมมือระหว่างทั้งสองมหาวิทยาลัยในวันนี้ไม่ใช่การบูรณาการระดับสาขาวิชาเท่านั้น แต่เป็นระดับมหาวิทยาลัย ที่สำคัญทั้งจุฬาฯ และมหิดลมีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ความร่วมมือกันในครั้งนี้ทั้งสองมหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่าการสร้างพลังระหว่างนิสิตนักศึกษาทั้งสองมหาวิทยาลัยจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิสิตเกิดการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของความยั่งยืนคือการพัฒนาประชาคมโลก (Global Citizen)

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมีความโดดเด่นด้าน Health Science และ Science and Technology การที่สองมหาวิทยาลัยมาร่วมมือกันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนิสิต นักศึกษา รวมถึงนักวิจัยของสองมหาวิทยาลัยอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม โดยมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนและ SDGs ความร่วมมือระหว่างสองมหาวิทยาลัยในครั้งนี้มีเป้าหมายในการผลิตคนที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์โลกยุคใหม่ โดยเฉพาะทักษะจำเป็นในอนาคต หรือที่เรียกว่า Transferable Skills ที่เป็นแนวทางการจัดการศึกษาในโลกยุคใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและฝึกฝน Soft Skill ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัยและกิจกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืนที่จะช่วยสานพลังในการสร้างผลกระทบเชิงบวกและความยั่งยืนให้กับประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image