‘เพิ่มพูน ชิดชอบ’ ฉายภาพปี68 สร้างความเชื่อมั่นการศึกษาไทย

หมายเหตุมติชน สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงภาพรวมการพัฒนาการศึกษาในรอบปี 2567 และทิศทางการพัฒนาการศึกษาในปี 2568 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและนักเรียน

•การเดินหน้านโยบาย ปี 2567 เรื่องใดบ้างที่มีความคืบหน้าและเห็นเป็นรูปธรรม?

นโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการคือ เรียนดี มีความสุข มุ่งเน้นการลดภาระของครูและนักเรียนเพื่อสร้างความสุขในระบบการศึกษา ซึ่งมีความเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง เช่น การยกเลิกครูเวร การจัดหานักการภารโรง ถือเป็นการดำเนินการที่ตอบโจทย์นโยบาย ลดภาระครู ขณะเดียวกัน ยังลดงานเอกสาร ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว9/2564) ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้การประเมินรวดเร็วขึ้น ใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 3 เดือน เร็วสุด 17 วัน รวมทั้ง ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และทำเอกสาร ซึ่งเดิมมีค่าใช้จ่ายกว่า 20,000 บาทต่อคน สามารถตรวจสอบสถานะต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นได้ ลดช่องว่างไม่ให้มีการทุจริต มิติในส่วนนี้ ยังส่งผลไปถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งที่ผ่านมา ครูบางรายอาจตกเป็นเหยื่อผู้ที่มาแอบอ้างว่าจะช่วยให้การประเมินผ่าน มีการกู้เงินเพื่อไปจ่าย เกิดเป็นหนี้สิน

อีกนโยบายที่สำคัญคือ จัดให้มีระบบจับคู่การย้ายครูคืนถิ่น หรือ Teacher Matching System (TMS) สามารถจับคู่ครูที่มีความต้องการย้ายกลับถิ่นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้มีการประกาศใช้ระบบย้ายข้าราชการครู สังกัด ศธ. หรือระบบ Teacher Rotarion System (TRS) ซึ่งจะเข้ามาแทนที่การขอย้ายแบบเดิม ที่มีขั้นตอนยุ่งยาก

ADVERTISMENT

เรื่องที่น่าพอใจอีกอย่าง คือ การแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ศธ.ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง มีการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ จำนวน 245 สถานีตามจำนวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สถานีแก้หนี้ จะมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษา ประสานงาน และเจรจาหนี้อย่างใกล้ชิดในระดับพื้นที่ นับตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯแล้ว 7,762 ราย โดยสามารถแก้ไขปัญหาสำเร็จแล้วรวม 1,391 ราย แบ่งเป็นกลุ่มสีแดง ที่ถูกฟ้อง 83 ราย กลุ่มสีแดงที่ไม่ถูกฟ้อง 860 ราย และกลุ่มสีเหลือง คือ กลุ่มที่กำลังเป็นหนี้และขาดสภาพคล่อง 448 ราย ผลการดำเนินงานส่งผลให้มูลค่าหนี้สินที่ได้รับการแก้ไขสำเร็จรวมทั้งสิ้น 4,173 ล้านบาท การแก้ไขหนี้สินครู จะมุ่งให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ขาดสภาพคล่อง มีการทำความร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 40 แห่งลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้ไม่เกินร้อยละ 4.75 ช่วยให้ครูกว่า 439,858 คน มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต มีการจัดอบรมพัฒนาทักษะทางการเงินของครูและนักเรียน ให้ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ามาอบรมผ่านโครงการนี้แล้วกว่า 3 แสนคน

•นโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองมีเรื่องใดบ้างที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม?

ADVERTISMENT

นโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime เริ่มคัดเลือกสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้ จัดทำสื่อต้นแบบครอบคลุม 8 กลุ่มสาระ เช่าใช้ระบบคลาวด์ขนาดใหญ่ รองรับทุกแพลตฟอร์มการเรียนรู้ และในปี 2568 เตรียมจัดหาอุปกรณ์ให้กับนักเรียน นำร่องชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยให้เป็นโครงการยืมเรียน เมื่อจบการศึกษา ต้องส่งต่ออุปกรณ์ให้รุ่นน้องใช้ต่อไป นโยบายนี้ได้มีการพูดคุยกับโรงเรียนที่มีความพร้อม เช่น โรงเรียนพญาไท โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ฯลฯ ช่วยจัดทำสื่อการเรียนการสอน ให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครู หรือไม่ชำนาญการในบางวิชาได้นำสื่อเหล่านี้ไปใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ที่มีการถ่ายทอดสดการสอนไปยังโรงเรียนใกล้เคียง เป็นการแบ่งปันทรัพยากร โดยตั้งใจจะนำโมเดลนี้ ไปใช้ในทุกจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู คาดว่า จะมีการของบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย Anywhere Anytime

อีกเรื่องที่ตัวผมพอใจ คือ นโยบายสุขาดี มีความสุข ซึ่งเกิดจากปัญหาสุขาในโรงเรียนที่ไม่มีมาตรฐาน เป้าหมายให้มีสุขาในโรงเรียน 29,000 แห่ง และจัดสรรงบให้โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนละ 10,000 บาท ใช้ปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาด สะดวก ถูกสุขลักษณะสวยงาม ครูและนักเรียนใช้ร่วมกันได้ ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

•นโยบายหลักๆ จะมุ่งเน้นที่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการศึกษามากขึ้น?

ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็อยากจะนำเทคโนโลยีมาใช้กับการศึกษาในหลายๆ ด้าน และเริ่มทำไปแล้วบางส่วน เช่น มิติของ Anywhere Anytime ก็มีความคิดที่อยากจะนำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดเข้ามาใช้ในห้องเรียน เพื่อให้ครูที่สอนด้วยระบบการศึกษาทางไกลสามารถโต้ตอบกับนักเรียนในห้องเรียนได้ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปถึงการเรียน ในรูปแบบโฮมสคูล

•มีนโยบายใดบ้างที่ถือว่า ยังทำไม่สะเด็ดน้ำในปี 2567?

“การจัดระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต ซึ่งยังไม่เป็นไปตามที่คิด อีกเรื่องคือ ระบบเทียบโอนผลการเรียน ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เป็นผู้ดำเนินการ แต่คิดว่ายังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร”

•ผลการดำเนินการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา?

“เรื่องนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ของการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล โดย ศธ.ได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจ พบว่า มีเด็กนอกระบบการศึกษาวัยเรียน (อายุ 3-18 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คน แบ่งเป็นเด็กไทย 767,304 คน และเด็กต่างชาติ 258,210 คน ติดตามได้ 365,231 คน หรือคิดเป็น 47.60% ขณะที่ยังติดตามไม่ได้ 402,073 คน หรือคิดเป็น 52.40% สำหรับเด็กต่างชาติ สามารถติดตามได้ 31,816 คน หรือคิดเป็น 12.32% และยังติดตามไม่ได้ 226,394 คน หรือคิดเป็น 87.68%

ศธ.จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายและโครงการต่างๆ เพื่อดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เช่น โครงการ 1 โรงเรียน 3 ระบบ ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเหมาะสม เน้นกระบวนการ 4 ด้าน ได้แก่ ป้องกัน, แก้ไข, ส่งต่อ และติดตามดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบอีกครั้ง โดยเน้นย้ำว่าเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ

•การเดินหน้าศึกษาเท่าเทียม มีเรื่องใดที่อยู่ระหว่างดำเนินการ?

การสร้างโรงเรียนเครือข่ายในสังกัดเดียวกัน และต่อยอดไปยังสังกัดอื่น เช่น โรงเรียนสังกัด สพฐ.กับโรงเรียนเอกชน ซึ่งมิตินี้เกิดแล้ว ที่่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และโรงเรียนแม่ริมวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเดิมเรียกว่า โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง แต่หลังจากเริ่มดำเนินจริงกลับกลายเป็นโรงเรียนเพื่อนที่คอยแบ่งข้อมูลความรู้ให้กันและกัน อีกทั้งยังมีโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ที่ ศธ.จะให้การสนับสนุนความพร้อมเชิงกายภาพ เช่น ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ สื่อการเรียนที่ทันสมัย เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ พัฒนาบุคลากร และสร้างเครือข่าย ให้โรงเรียนคุณภาพ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ใช้ทรัพยากรร่วมกับโรงเรียนใกล้เคียง พร้อมสนับสนุนค่าพาหนะเดินทาง ให้นักเรียนโรงเรียนเครือข่ายจัดรถโรงเรียนรับ ส่ง สร้างความปลอดภัยในการเดินทาง โดยปัจจุบัน มีโรงเรียนคุณภาพสังกัด สพฐ. จำนวน 1,808 แห่ง

และผมยังคิดต่อยอดไปถึงการนำกลุ่มโรงเรียนในเครือเดียวกัน เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบฯ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นต้น ให้มาช่วยถ่ายทอดความรู้ ไปสู่กลุ่มโรงเรียนอื่นๆ การแบบนี้จะส่งผลให้โรงเรียนในพื้นที่ได้พัฒนาไปตามโรงเรียนคุณภาพ เปรียบเสมือนการหย่อนเม็ดสีลงไปในน้ำที่จะค่อยๆ กระจายตัวไปจนทั่ว”

•การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือปิซ่า ปี 2025 มีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหน?

ผมมีความมั่นใจ 1,000 เปอร์เซ็นต์ ว่าผลประเมินปิซ่า จะออกมาดีเป็นที่พอใจ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สพฐ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ต่างร่วมกันทำงานเพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยได้มอบ สกศ.เป็นเจ้าภาพหลัก รับผิดชอบการประเมินปิซ่าแทนที่ สสวท. เนื่องจาก สสวท. จะมีหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการการสอบและต้องเป็นกรรมการ ฉะนั้นเพื่อความโปร่งใส ต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการในการขับเคลื่อน นอกจากนี้จะยกระดับการสอบปิซ่าให้ครอบคลุมทั้งนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา โดยจัดอบรมครูเกี่ยวกับการออกข้อสอบในรูปแบบเดียวกับการประเมินปิซ่าเพื่อให้นักเรียนคุ้นเคยกับข้อสอบที่เน้นการคิดวิเคราะห์และมาตรฐานสากล อีกทั้งยังปรับรูปแบบข้อสอบสำหรับการสอบคัดเลือกและการเลื่อนตำแหน่งครูและผู้บริหาร ศธ.วัดทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาลักษณะเดียวกับข้อสอบปิซ่า ซึ่งข้อสอบรูปแบบใหม่นี้ได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป เป้าหมายคือให้ครูสามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง และถ่ายทอดความรู้ที่ได้ให้กับนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ก้าวสู่ระดับมาตรฐานสากลได้อย่างแท้จริง

•การทำงานที่ผ่านมา มองว่าเรื่องใดยังเป็นจุดอ่อนอยู่บ้าง?

“จุดอ่อนคือ เรื่องที่เราไม่รู้ เรื่องที่ผมรู้อยู่แล้วคงไม่มีปัญหา ตอนนี้ผมมีความรู้ในการบริหาร ศธ.มากพอสมควร และในปัจจุบัน บุคลากรของ ศธ.ก็มีความรู้ความสามารถในการทำงานเพิ่มขึ้นจากอดีตอย่างชัดเจน เพราะมีการทำงานในรูปแบบเครือข่าย มีการประชุมประสานภารกิจทุกวันพุธ ทำให้ทุกหน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จุดอ่อนน่าจะมาจากปัจจัยอื่น เช่น เรื่องของงบประมาณที่อาจยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ ส่งผลให้คิดโครงการหรือนโยบายใหม่ๆ ออกมาได้ยาก เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับจะมีการกำหนดอยู่แล้วว่าต้องนำไปใช้ในเรื่องใด

•การสร้างความเชื่อมั่นด้านการศึกษาให้กับประชาชน-นักเรียน?

ที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระทรวงศึกษาธิการอาจจะลดน้อยลงจากปัญหาต่างๆ ที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดและไม่สามารถไปบังคับใครให้มาเชื่อมั่นได้ แต่การจะเรียกคืนความเชื่อมั่นนั้นอยู่ที่การกระทำของเราเอง กระทรวงศึกษาธิการจะทำตามนโยบายที่วางไว้อย่างตั้งใจ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข” ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image