โฆษกศธ.แจงวุ่นยกเลิกบังคับทรงผม แต่ร.ร.ไม่ทำตาม ชี้เป็นปชต.เหมาะสมแล้วไม่ทบทวน

โฆษกศธ.แจงวุ่นยกเลิกบังคับทรงผม แต่ร.ร.ไม่ทำตาม ชี้เป็นปชต.เหมาะสมแล้วไม่ทบทวน

วันที่ 5 มกราคม นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน แต่บางโรงเรียนยังใช้อยู่นั้น จนเกิดเสียงเรียกร้องว่า กระทรวงศึกษาฯควรออกมาตรฐานกลางในเรื่องนี้ออกมา ว่า การยกเลิกกฏระเบียบทรงผม แต่ยังให้โรงเรียนได้ตัดสินใจเอง ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่เหมาะสมเพราะทุกโรงเรียนจะมีกระบวนการในการตัดสินกฎกติกาการอยู่ร่วมกันอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของทรงผมแต่ยังมีเรื่องอื่นๆอีก เช่น การแต่งกาย การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายในโรงเรียน

ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือกฎเหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะตัวโรงเรียนเท่านั้นที่กำหนดขึ้นมาเองแต่ยังมีการให้ตัวแทนผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกฎเหล่านี้ บางโรงเรียนยังให้สิทธินักเรียนในการกำหนดกฎเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

“การที่ศธ.มอบอำนาจให้โรงเรียนกำหนดกฎเหล่านี้หมายความว่าโรงเรียนจะกำหนดหรือไม่ก็ได้ซึ่งศธ.จะไม่ได้เข้าไปบังคับว่าทุกโรงเรียนต้องกำหนดกฏเหล่านี้ขึ้นมาและอีกสิ่งหนึ่งที่ศธ.ได้เน้นย้ำกับทุกโรงเรียนคือถ้ากฎที่กำหนดขึ้นมาทำให้เกิดความไม่พอใจต่อนักเรียนหรือใครก็ตาม โรงเรียนควรจะมีช่องทางที่ทำให้เกิดการพูดคุยในเรื่องนี้ขึ้นมาแต่สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนไม่สามารถทำได้เลยคือการใช้ความรุนแรงกับเด็กนักเรียน อย่างการไปกล้อนผม ทำให้เด็กเกิดความอับอายหรือการใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยามในลักษณะการบูลลี่ สิ่งที่โรงเรียนทำได้คือการตักเตือน เช่น การใช้กฎกติกาในการหักคะแนนความประพฤติ เป็นต้น”นายสิริพงศ์ กล่าว

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า หากมีนักเรียนเข้ามาร้องเรียนกับศธ.ว่าถูกบังคับให้ตัดผม ศธ.ก็จะต้องมีการเข้าไปตรวจสอบว่าการบังคับที่เกิดขึ้นเกิดในลักษณะไหน เป็นในเชิงของการว่ากล่าวตักเตือน หรือ การใช้ความรุนแรง ซึ่งขอยืนยันว่าโรงเรียนจะมีอำนาจทำได้แค่ 4 สถาน คือ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทําทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ 4.ทํากิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากมีการกระทำของโรงเรียนที่ผิดไปจากกติกาของโรงเรียน ทางศธ.ก็จะมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ADVERTISMENT

“ทางศธ.พร้อมรับฟังเรื่องที่เข้ามาร้องเรียนอยู่แล้ว แต่ทุกครั้งจะต้องมีการเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดในเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเสมอ ซึ่งถ้าพบเจอในลักษณะของการใช้ความรุนแรงจับนักเรียนมากล้อนผม ไม่ให้เข้าสอบ ก็ถือว่าผิดกติกาที่ตั้งไว้ แต่ถ้าทางโรงเรียนมีการตักเตือนนักเรียนไปแล้วบ่อยครั้งจนเป็นเหตุให้ต้องมีการตัดคะแนนความประพฤติออกไปก็ไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกติกา ฉะนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบในเรื่องที่ร้องเรียนโดยละเอียดดูตามบริบทการร้องเรียนและสิ่งสำคัญคือการกระทำที่เกิดขึ้นต้องไม่เกินกว่าเหตุ”นายสิริพงศ์ กล่าว

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันการใช้อำนาจของโรงเรียนจะไม่สามารถตัดสินใจเองเพียงลำพัง ในการกำหนดนโยบายต่างๆของสถานศึกษาจะต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมขึ้นมาด้วย ซึ่งในการตัดสินใจเรื่องเหล่านี้อย่างน้อยต้องมีกรรมการสถานศึกษา ตัวแทนผู้ปกครองเข้ามากำหนดร่วมกัน ซึ่งศธ.จะพิจารณาว่าเรื่องไหนที่ควรเป็นไปตามบริบทของชุมชน ของสังคม ก็จะให้โรงเรียนได้มีอำนาจในการตัดสินใจในส่วนนี้ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจให้โรงเรียนสามารถตัดสินใจได้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนเนื่องจากความต้องการที่ไม่เหมือนกันและไม่ก่อให้เกิดการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ในบางเรื่องที่ส่วนกลางจำเป็นต้องออกนโยบายเพื่อให้ปฎิบัติร่วมกันเนื่องจากทุกโรงเรียนสามารถจะปฏิบัติได้ศธ.ก็จะกำหนดขึ้นมา

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า การมอบอำนาจให้โรงเรียนในเรื่องนี้ถือว่าเหมาะสมและคงไม่มีการนำกลับมาทบทวนอีกครั้ง เพราะนอกจากจะเป็นการกระจายอำนาจและสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียน ยังถือเป็นการส่งเสริมวิถีประชาธิปไตยในสถานศึกษา เพราะการที่นักเรียนและผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ จะช่วยปลูกฝังความรู้สึกถึงสิทธิและหน้าที่ รวมถึงการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย

“ในตอนนี้จะเห็นได้ว่าประเด็นที่เกิดขึ้นต่อเรื่องนี้มีเสียงที่แตกต่างออกมาแสดงความคิดเห็นในโซเชียล สิ่งที่ศธ.ทำได้คือการสร้างสมดุลขึ้นมา ถ้าศธ.ไปกำหนดห้ามไม่ให้ทำในบางเรื่อง ก็จะเป็นการปิดกั้นสิทธิของโรงเรียนที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแล้ว และตัดสินใจร่วมกันอย่างรอบคอบว่าอยากดำเนินการในเรื่องนั้น การกระทำเช่นนี้อาจส่งผลให้โรงเรียนที่มีความพร้อมและบริบทเฉพาะของตัวเองไม่ได้รับโอกาสในการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้น ศธ.จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการกำหนดแนวทางกลางและการเปิดโอกาสให้โรงเรียนมีอิสระในการตัดสินใจที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง”นายสิริพงศ์ กล่าว