นักวิชาการ ชี้ 5 ปัญหาอุปสรรค Thailand Zero Dropout ตามเด็กกลับมาเรียน แนะรัฐบาลเร่งแก้ไข
เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า จากวันเด็กแห่งชาติ และวันครูแห่งชาติที่ผ่านมา พบว่าเด็กและครู มีพื้นที่และมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย Thailand Zero Dropout ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศสานต่อเป็นปีที่สอง โดยเมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ลงพื้นที่พบว่านโยบายดังกล่าวลงติดดิน ติดชีวิต ให้โอกาสเด็กจำนวนมากกลับมาเรียนรู้ พร้อมกับได้ลงพื้นที่โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งพบจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นว่ามีการตามเด็กกลับมาจริงๆ ชุมชน ครู ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ร่วมมือตามเด็กกลับมาได้จริงๆ ดังนั้นคานงัดสำคัญของนโยบายนี้ คือ หน่วยปฏิบัติระดับตำบล ที่ช่วยดำเนินการตามเด็กกลับมาเรียนจำนวนมาก
นายสมพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น ห้องน้ำมีสภาพดีขึ้น เป็นต้น ประกอบกับส่วนกลางทำโครงสร้างและระบบที่ยืดหยุ่นขึ้น ให้ความเป็นธรรมกับเด็กทุกกลุ่ม เพราะเมื่อก่อนโครงสร้างและระบบ เน้นแต่มาตรฐาน กรอบต่างๆ นอกจากนี้ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ผลักดันให้เกิด 1 โรงเรียน 3 ระบบ ให้เกิดขึ้น โดยมีการจัดทำคู่มือใครครูทั่วประเทศ น้องจากนี้ยังมีนโยบายนำน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้องด้วย ประกอบกับ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการประชุมติดตามทุกสัปดาห์ พบว่าเด็กจาก 1.02 ล้านคน สามารถตามเด็กกลับมาได้ 594,177 คน คิดเป็น 57.94%
นายสมพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อลงพื้นที่ติดตามนโยบายดังกล่าวจะพบการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัด ที่ต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุง มีดังนี้ 1. ตัวเลขเด็กที่ตามกลับมาได้ 57.94% ถือว่าค่อนข้างสูง แต่ระบบการตรวจสอบนั้นสำคัญเพราะคำถามตามมาคือ จะทำอย่างไรกับชีวิตของเด็ก เด็กบางคนไม่อยากจะกลับบมาเรียน บางคนอยากประกอบอาชีพ ระบบ 1 โรงเรียน 3 ระบบนั้นตอบโจทย์หรือไม่ ดังนั้น การคัดกรองเด็ก และการช่วยให้เด็กมีอาชีพ มีรายได้ อยู่กับครอบครัวและเรียนไปด้วย มีหลักสูตรตอบโจทย์ชีวิตโดยได้รับวุฒิการศึกษานั้นเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่ค้นพบจากจำนวนที่ตามเด็กกลับมาเรียนและถือเป็นปัญหาหนักที่สุด คือ มีเด็กต่างชาติ เด็กชายขอบ เด็กบนเกาะ เด็กตัวศูนย์ เด็กรหัส G ซึ่งเราเจอเด็กกลุ่มนี้ยากมาก บางคนกลับประเทศไปแล้ว ซึ่งก็ยังไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเด็กกลุ่มนี้
2.ขณะนี้แต่ละหน่วยงานมีศูนย์ข้อมูลของตน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นต้น ทำให้ตัวเลขสับสน มีการโยนตัวเลขกันไปมา ดังนั้น ในเชิงบริหารจัดการควรจะกำหนดให้แน่นอนว่าจะเอาหน่วยงานไหนเป็นหลัก
3. เด็กที่ตามกลับมาแล้ว และเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ร้อยละ 80-90 อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ค่อย มองว่าต้องกระทุ้งครั้งใหญ่ ควรเป็นวาระของประเทศ สาเหตุที่เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น มาจากชั้นประถมศึกษาที่เน้นการสอน 8 กลุ่มสาระมากเกินไป ดังนั้น ระบบหลักสูตร ต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปัญหานี้จะส่งผลต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น เพราะเด็กจะอ่านไม่แตก วิเคราะห์ ตีความไม่เป็น ซึ่งจะมีผลกับคะแนน PISA โดยตรง
4. พบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา มาจากปัญหาครอบครัว ดังนั้น รับไม่ควรดูมิติเรื่องโรงเรียนเท่านั้น ควรดูมิติครอบครัวด้วย อีกทั้ง ครูที่ลงไปตามเด็กกลับมาเรียน ทำงานอย่างทุ่มเทกันเงียบๆ แต่ครูเหล่านี้เจอปัญหาอุปสรรคค่อนข้างเยอะจึงอยากให้ ศธ. แก้ระเบียบวิทยฐานะช่วยครูที่ทำงานหนัก เสียสละตามเด็กกลับมาเรียน เพราะครูเหล่านี้คงไม่มีเวลาทำงานทุ่มเททำงานเอกสารขอวิทยฐานะ ดังนั้น การสร้างขวัญและกำลังใจของครูนั้นเป็นเรื่องสำคัญ จะสามารถการติดตามเด็กกลับมาเรียน ให้เด็กได้เรียน ได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ มีอาชีพ มีรายได้ จะมีผลต่อการประเมินวิทยฐานะของครูได้หรือไม่
5. รัฐบาลต้องมองระยะยาว การตามเด็ก 1 ล้านคน กลับมาเรียน เด็กเหล่านี้อาจจะไม่ไปถึงระดับมหาวิทยาลัย อาจจะเรียนด้านอาชีพ อัพสกิล รีสกิล มองว่าการช่วยให้เด็กเหล่านี้มีอาชีพ จะช่วยแก้ปัญหายุวอาชญากร ช่วยแก้ปัญหาแรงงานไร้ฝีมือ ถือเป็นการสร้าง SML ถ้ารัฐบาลมีเป้าชัดเจนว่าเด็กเหล่านี้คือจุดอ่อนของสังคมไทย พร้อมกับช่วยให้ประกอบอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ตลอดชีวิต และช่วยยกฐานะทางสังคม ช่วยให้หลุดจากความยากจน เติบโตมาเป็นผู้ประกอบการ มีอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งส่งผลต่อ GDP ถึง 1.7% ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทุ่มเท ช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ มองว่าต้องใช้เวลา 3-5 ปี ก็จะเห็นความแตกต่างและช่วยทำให้สังคมไทยดีขึ้นแน่นอน พ้นกับดักรายได้ปานกลาง