นักวิชาการ แนะ ‘พท.-ภท.’ ร่วมปฏิรูปการศึกษา กล้าเปลี่ยนแปลง ผ่าตัด ศธ.ให้เล็กลง

นักวิชาการ แนะ ‘พท.-ภท.’ ร่วมปฏิรูปการศึกษา กล้าเปลี่ยนแปลง ผ่าตัด ศธ.ให้เล็กลง เปิด 4 ประเด็นปัญหาอุปสรรค แนะลดภาระเอกสาร ปรับงบประมาณ เพิ่มงบพัฒนาเด็ก

จากกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นปราศรัยช่วย ผู้สมัคร อบจ.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยหาเสียง ซึ่ตอนหนึ่งแสดงความเป็นห่วงต่อการศึกษาเด็กไทยพร้อมชี้ว่าศธ.ใหญ่เกินไปต้องปรับปรุง ต่อมา นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาตอบโต้ว่า ปัญหาที่อดีตนายกรัฐมนตรีพูดนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ และที่ผ่านมาศธ. ดำเนินการแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง และมองว่าการขึ้นพูดในเวทีหาเสียงเลือกตั้งอาจจะเป็นเพียงเทคนิคในการหาเสียงนั้น

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ถือเป็นโอกาสดีทางการศึกษา และเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาเป็นห่วงเด็กและระบบการศึกษาไทย โดยมองว่าระบบการศึกษาในขณะนี้ใหญ่โตเกินไป ต้องปฏิรูปและควรหาเงินออนไลน์มาช่วยเรื่องการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่น่ารับฟัง และบางมุมมีตรรกะและเหตุผล ซึ่งตนมองว่าทุกครั้งที่นายทักษิณพูด รัฐบาลจะรับฟังและนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ พท. ควรที่จะนำเอาสิ่งที่นายทักษิณพูด มาหารือร่วมกันแก้ไขและทำให้การศึกษาดีขึ้น แต่ขณะนี้ที่ออกมาพูดไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่าเป็นเรื่องเทคนิคการหาเสียง ซึ่งเข้าใจว่าแต่ละพรรคการเมืองนั้นมีมุมมองของตนเอง แต่มองว่าเรื่องทั้ง 2 พรรค น่าจะนำเรื่องการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป ปฏิวัติทางการศึกษา ต้องมองและทำความเข้าใจให้ตรงกันซึ่งปัญหาของศธ.มี 4 ประเด็นดังนี้

นายสมพงษ์ กล่าวว่า 1. ศธ.ใหญ่เกินไปนั้นถูกต้อง เพราะเป็นกระทรวงใหญ่ รวมศูนย์ รวมงาน ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้การรวมศูนย์ที่ใหญ่โตเกินไปมีขนาดเล็กลง โดยให้ ศธ.ทำหน้าที่สำคัญ เช่น กำหนดนโยบาย ทรัพยากร กำหนดเรื่องติดตามประเมินผล และกำหนดมาตรฐานต่างๆ แต่ปัจจุบันยังมีหน่วยงานในรูปแบบแท่งๆ นอจกากนี้ ควรกระจายอำนาจลงไปในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลด้วย

นายสมพงษ์ กล่าวว่า 2. ปัญหางบประมาณ คือสิ่งที่นายทักษิณ และนายสิริพงศ์ พูดตรงกัน งบประมาณ 3 แสนล้าน ที่ 80% เป็นเรื่องเงินเดือน วิทยฐานะ ซึ่งใครกล้าแตะ ใครการเปลี่ยนแปลง ใครกล้าที่จะทำให้วิทยฐานะที่ลงไปสู่เด็ก ลงไปสู่การเรียนรู้ ไปช่วยแก้ไขปัญหาออกกลางคัน แก้ปัญหาคุณภาพชีวิต ไม่ควรให้ครูมานั่งเขียนรายงานเท่านั้น ปัจจุบันมีการแตะปัญหานี้ห่างๆ ไม่จริงจัง ครูยังต้องทำวิทยฐานะ ต้องทำเอกสารอยู่ เมื่องบจ่ายเงินเดือนมีถึง 80% ส่วนที่เหลือคือค่าใช้จ่ายรายหัวเด็ก แต่งบพัฒนาผู้เรียน กลับได้น้อยที่สุด ดังนั้น ควรหารือร่วมกันว่าจะลดภาระงบประมาณ และภาระเอกสารของครูอย่างไร เพื่อให้ได้งบพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กเพิ่มมากขึ้น มองว่าอย่ามาเถียงกันเรื่องนี้เลย เพราะผิดพลาดมานานแล้ว

ADVERTISMENT

“ส่วนที่มีความคิดว่าจะเอารายได้จาก เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มาจ้างครู พัฒนาการศึกษา คำถามที่ตามมาคือจะอธิบายการใช้เงินสีเทามาใช้พัฒนาการศึกษาอย่างไร? และจะทำอย่างไรให้เงินสีเทานี้สะอาด และถูกต้องตามหลักการทางการศึกษา ทั้งนี้มีเรื่องที่นายทักษิณ อาจจะมองพลาดไป คือ เรื่องครู ปัจจุบันครูไทยส่วนใหญ่ มีความพร้อมที่จะสู้ยังทำหน้าที่ได้ดี ยังมีจิตวิญญาณความเป็นครู เพียงแต่ว่าครูส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีสื่อ เขาสอนหนังสือแบบแห้ง เพราะมีงบพัฒนาผู้เรียนเพียงนิดเดียว ครูไม่มีงบซื้อสื่อการเรียนการสอน และยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไปกระจุกที่โรงเรียนดี เด่น ดังเท่านั้น โรงเรียนขนาดเล็กไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอน รัฐควรจะจัดสื่อ จัดงบ จัดทรัพยากรลงไปที่ครูเหล่านี้ด้วย ลดภาระครูเวรและภาระเอกสารให้ได้100%” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า 3.ปัจจุบันโรงเรียนอินเตอร์ เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่โรงเรียนไทยกลับยุบลง ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นปัญหาที่บ่งบอกว่าเราบริหารจัดการ ศธ.ไม่ดี เพราะโรงเรียนขนาดเล็กถูกระบบราชการเพิกเฉย ไม่เอาใส่ใจ ถูกตัดงบประมาณเพื่อให้ยุบโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหา เด็กเกิดน้อยลงแต่มีเด็กยากจนเพิ่มขึ้นมหาศาล เมื่อตัดงบโรงเรียนขนาดเล็ก สถานการณ์โรงเรียนจะยิ่งแย่ลง คนจนจะได้รับการศึกษาที่ไม่สู้ดีเพราะห่างไกล ในขณะที่โรงเรียนอินเตอร์จะยิ่งโต ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้น เพราะระบบงบประมาณไม่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นถ้าจะแก้ศธ.ให้เล็กลง ต้องปฏิรูประบบราชการกระทรวงด้วย

นายสมพงษ์ กล่าวว่า 4. เทคโนโลยีที่แม้จะเป็นดาบสองคม แต่เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และช่วยให้เข้าถึงการศึกษาได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีไปอยู่ที่โรงเรียนดี เด่น ดัง ที่มีขนาดใหญ่มีความพร้อมเท่านั้น ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีเหมือนเดิม มองว่าเทคโนโลยีจำเป็น ต่ใช้ไม่ถูกต้องและไม่ลงไปยังกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ ตอนนี้เรากำลังก้าวพลาด

“มองมุมของ นายทักษิณ มีหลายมุมมองที่ต้องรับฟัง และยังมีอีกหลายมุมที่จะต้องถกเถียง มองว่า ศธ.ต้องผ่าตัด ต้องเล็กลง ต้องกระจายอำนาจ ทรัพยากรงบประมาณต้องลงไปที่ตัวเด็กเพิ่มมากขึ้น ต้องปฏิรูประบบราชการใหม่ ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่ปแล้ว สมัยที่นายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดปฏิรูปการศึกษา ซึ่งตอนนั้นที่มีความพร้อมมากกว่าปัจจุบัน แต่กลับไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ

ผมไม่อยากนำเรื่องนี้เป็นนโยบายหาเสียง หรือเป็นนโยบายเรื่อยเปื่อยเท่านั้น หาเสียงต้องทำตามสัญญาด้วย จึงอยากนำเรื่องนี้มาเป็นโอกาส และเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย พท.ควรจะเป็นแกนกลางขานรับและหารือพรรคร่วมว่าจะทำอย่างไรให้การศึกษาดีขึ้น” นายสมพงษ์ กล่าว