‘นักวิชาการ’ ชี้ กรณีรุ่นพี่LGBTQ สาดน้ำร้อนนักศึกษา ม.ดัง สะท้อนสังคมนิยมดราม่า ให้แสงเด็กพฤติกรรมรุนแรง

‘นักวิชาการ’ ชี้ กรณีรุ่นพี่ LGBTQ สาดน้ำร้อนนักศึกษา ม.ดัง สะท้อนสังคมนิยมดราม่า ให้แสงเด็กพฤติกรรมรุนแรง แนะสถานศึกษา เปิดพื้นที่ยกย่องเด็กทำดีเพิ่มขึ้น

กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังย่านรังสิตเข้าร้องเรียนกรณีถูกกลุ่มรุ่นพี่ LGBTQ ใช้ความรุนแรง โดยจับตัดผมกลางร้านอาหาร บังคับให้ถอนวิชาเรียน และข่มขู่ว่าไม่ให้กลับมาเรียนอีกในเทอมนี้ พร้อมใช้น้ำร้อนราดตัวและศีรษะถึง 3 ครั้ง และบุกไปทำร้ายร่างกายถึงคอนโดเพื่อนของผู้เสียหาย โดยใช้พัดลมฟาดศีรษะ จนต้องหนีตายไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อน อีกทั้งรุ่นพี่ยังเรียกร้องเงิน จำนวน 50,000 บาท แล้วจะหยุดคุกคาม ต่อมามหาวิทยาลัยกรุงเทพออกแถลงการณ์ลงโทษผู้ก่อเหตุ ทราบว่าคือ นายรษิภา หรือ พรีม อายุ 22 ปี โดยให้พ้นสภาพนักศึกษาแล้ว เบื้องต้นมีกำหนดส่งฝากขังศาลจังหวัดธัญบุรีในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ขณะที่ แม่ยุ้ย แม่ของพรีม ยืนยันว่าจะไม่ยื่นประกันตัวลูก อยากให้เจอประสบการณ์ด้วยตัวของเขาเอง อีกทั้ง ครอบครัวไม่ได้มีกำลังทรัพย์ ที่จะประกันตัวพรีม นั้น

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์  นายสมพงษ์  จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า กรณีความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งการบูลลี่ กันภายในโรงเรียน การกร้อนผม การทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ขณะที่บางครอบครัว ก็อาจมีความรุนแรงแฝง เช่น ครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวแตกแยก ที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ไม่สามารถติดตามดูแลพฤติกรรมเด็กได้เต็มที่ เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ

“กรณีของพรีม เท่าที่ติดตามข่าวพ่อแม่ ได้ออกมาของโทษสังคม และยอมรับว่าไม่มีเวลาดูแล อย่างไรก็ตามพฤติกรรมดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นLGBTQ แต่ความรุนแรงต่าง ๆ จะเป็นพฤติกรรมแฝง ที่มีอยู่ในตัวนักศึกษาทุกเพศ เพราะเด็กปัจจุบัน มีความอยากลอง อยากโดดเด่น ต้องการมีแสง มีพื้นที่ของตัวเอง  ประกอบกับ สื่อโซเชียล ซึ่งให้พื้นที่ กลุ่มเหล่านี้ เวลาสิ่งที่รุนแรงหรือแตกต่าง ก็จะเป็นข่าวดัง มีพื้นที่ของตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าได้รับการยอมรับ เกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ กลายเป็นสังคมดราม่า ที่ใครมีพฤติกรรมแปลก ๆ กล้าทำ กลับได้รับการยอมรับ  การแก้ปัญหาดังกล่าว สถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัย และส่งเสริมให้เด็กแสดงออกอย่างปกติ  โดยจากการสัมมนาวิชาการ ต่าง ๆ พบว่า ความเจ็บปวด และความกลัวลึกๆ ของเด็ก คือความกลัวการถูกลงโทษ และกลัวการสอบแข่งขัน ทำให้เด็กไทยสมัยนี้ ไม่ค่อยมีความสุข ขณะเดียวกัน อยากให้เปิดพื้นที่ ยกย่องเด็กที่ทำความดี เด็กเก่ง เพื่อสร้างให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในทางที่ดี”นายสมพงษ์ กล่าว

ADVERTISMENT

ด้านนายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม  กล่าวว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงในมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องสำคัญ  ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความเครียด จากการเรียนและสภาพสังคม รวมถึงสือโซเชียลต่าง ๆ ดังนั้นคงต้องทำความเข้าใจ และหาแนวทางลดความเครียดของนักศึกษา ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษาได้

“ในส่วนของม.สยามเอง ก็เคยมีความรุนแรงในสถานศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งผมเองพยายามทำความเข้าใจ โดยต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายสร้างความตระหนักรู้ ถึงข้อเสียของการใช้ความรุนแรง รวมถึงการขายบุหรี่ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัย ว่า เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน” นายพรชัยกล่าว

ADVERTISMENT

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image