ชื่นชม ศธ.ประกาศตามเด็กหลุดระบบทั้งหมดเข้าเรียน แนะอย่ามองแค่ตัวเลข ปฏิรูปการศึกษาป้องกันหลุดวนซ้ำ

นักวิชาการ ชื่นชม ศธ.ประกาศเด็กหลุดระบบทั้งหมดเข้าเรียน แนะอย่ามองแค่ตัวเลข ปฏิรูปการศึกษาป้องกันหลุดวนซ้ำ

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศปักหมุดวันที่ 14 ก.พ.นี้ จะปูพรมค้นหาเด็กที่หลุดนอกระบบการศึกษาทั้งหมดตามทะเบียนราษฎร์ เพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา มองว่าสถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาดีขึ้นตามลำดับ จากที่ตนลงพื้นที่หลายจังหวัด พบทั้งเด็กที่วิ่งหนีป่าราบ และพบเด็กที่เข้ามาเกาะแขนบอกว่าอยากเรียนหนังสือ เรียกได้ว่าเจอทุกประเภทกลุ่ม โดยพบว่าเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษามี 2 บาดแผลใหญ่ คือ 1. การทำโทษ การถูกตี เด็กจะมีบาดแผลในจิตใจ และ 2.การสอบ ติด 0 ติด ร. , มส. สิ่งเหล่านี้เป็นบาดแผลที่เด็กเจอกันเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พบว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าว ยังมีจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวโครงสร้างและระบบอยู่

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า จุดแข็งของการตามเด็กเข้าระบบ คือ 1.การตามเด็กให้เข้ามาเรียนมีความกระตือรือร้นตั้งแต่จุดที่เล็กที่สุดคือ ชุมชน อบต. ที่กระตือรือร้นตามหาเด็กให้กลับไปเรียนหนังสือ ซึ่งพบว่า ในปี 2566 เด็กหลุดจากระบบ 1,025,114 และปี 2567 เด็กที่หลุดจากระบบ 982,304 คน ซึ่งสามารถตามเด็กกลับมาเรียนได้ 304,083 คน หรือประมาณ 29.5% ดังนั้นจะเห็นว่าทุกหน่วยงานทุ่มเททำงานให้เด็กเกือย 3 แสนคนเข้าระบบได้ จนได้รับคำชม และได้รับการยกย่องจากยูเนสโกว่า “ประเทศไทยไม่เพิกเฉยต่อเด็กกลุ่มนี้ ไม่ทิ้งเด็กไทยไว้ข้างหลัง”

นายสมพงษ์ กล่าวว่า 2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเฉพาะว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่มีนโยบายชัดเจน เริ่มมีการปรับระบบโครงสร้างที่ยืดหยุ่นขึ้น จัดทำคู่มือ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อเป็นแนวทางช่วยเหลือเด็ก พร้อมกับจัดให้มี 1 อำเภอ 1 โรงเรียน ที่เป็นโรงเรียนยืดหยุ่นรองรับใก้เด็กกลับเข้าระบบการศึกษา และ 3.การดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินหน้าค้นหาเด็กกลับเข้าระบบการศึกษา บูรณาการหลายหน่วยงาน เกิดเป็นกฎหมาย ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างยาวนาน และต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม มีจุดที่น่าเป็นห่วงอยู่ 1. เด็กเจอ 1 คน พบว่าเด็กมีปัญหาใหญ่ๆ คือ มีงานทำแทนพ่อแม่ มีผู้ป่วยติดเตียง มีคนพิการต้องดูแล ครอบครัวตกงาน เป็นต้น ดังนั้นการตามเด็กไม่ใช่แค่เจอเด็กแล้วได้รายชื่อ แต่ต้องวินิจฉัยปัญหาเพื่อหาทางช่วยเหลือเด็กด้วย ซึ่งตนมองว่ายังไม่มีการบูรณาการร่วมกันน้อยไป

และ2. โครงสร้างระบบ โดยเฉพาะโรงเรียนส่วนใหญ่ยังเน้นความเป็นเลิศ เน้นการแข่งขัน คัดเลือกเฉพาะเด็กเก่ง ต้องสอบแข่งขัน ต้องมีผลสัมฤทธิ์ที่สูง ซึ่งในโครงสร้างนี้ เรายังไม่เห็นเด็กเปราะบาง เด็กหลังห้อง อยู่ในสมการการศึกษานี้เลย ขณะนี้ตามเด็กกลับมาประมาณ 3 แสนคน แต่เด็กที่อยู่ในโครงสร้างที่เน้นแต่คนเก่ง กลับพบเด็กออกจากระบบ 3.9 แสนคน แสดงให้เห็นว่ามีทั้งการนำเด็กกลับเข้าระบบการศึกษา และยังมีเด็กออกจากระบบการศึกษาด้วยปัญหาเดิมๆ

ADVERTISMENT

“เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ศธ.ประกาศว่าจะค้นหาเด็กเหล่านี้ มองว่าเมื่อเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาได้ อาจจะมีจำนวนหนึ่งถูกผลักเข้าเรียน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ซึ่งจะมีเด็กประมาณ 1 ใน 3 ที่มีเกือบ 3 แสนคน ที่ปฏิเสธรูปแบบการรียน 1 โรงเรียน 3 ระบบ และปฏิเสธไม่เรียน สกร. เพราะต้องการทำงาน พร้องยังหวาดกลัวเรื่องการลงทา และการสอบอยู่ ดังนั้นจะช่วยเหลือ เยียวยา ส่งต่อ หรือจะให้ทุนการศึกษา ช่วยให้เด็กมีงานทำ ช่วยเหลือครอบครัวเด็กเหล่านี้อย่างไร กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานท้องถิ่น จะสามารถช่วยเหลือหางานให้เด็กเหล่านี้ได้หรือไม่ ดังนั้นการศึกษาต้องยืดหยุ่น และประคับประคอง โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย ให้เด็กเชื่อมั่น มีความสุข มีอาชีพ มีรายได้ ”นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวัง เช่น เมื่อสำรวจพบว่ามีเด็กหลุดจากระบบ 1 ล้านคน แต่ถ้าไม่ลงลึก เข้าใจประเด็นปัญหา ร่วมมือแก้ไข เด็กจะหลุดวนซ้ำ และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ศธ.จะประกาศว่าพบเด็กหลุดจากระบบเป็นล้านคน ซึ่งตนขอยกย่องว่า ศธ.ทำงานดีมาก แต่ขออย่าให้ทำแค่เจอเด็กแล้วส่งเข้าโรงเรียน และ สกร. เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีเด็กจำนวนหนึ่งที่อยู่ในระบบเหล่านี้ไม่ได้ เพราะต้องการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เนื่องจากต้องรับผิดชอบครอบครัวตนเอง

นายสมพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายหากอยากให้เด็ก 1 ล้านคน มีความต่อเนื่องและไปต่อได้ ต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่า เด็กเหล่านี้ต้องได้รับการศึกษาต่อเพื่อไปเป็นผู้ประกอบการ SME เรียนไปทำงานไป มีลู่ทางในด้านอาชีวและอุดมศึกษา สามารถเรียนไปทำงานไป หลักสูตรการเรียนต้องสั้น รัฐบาลอาจจะต้องมองเป้าหมายว่าเราจะส่งเสริมพัฒนาด้านอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ให้เด็ก 1 ล้านคนเป็นผู้ปะกอบการรายย่อย ดังนั้นได้แค่ให้การศึกษาอย่างเดียว โดยตนพบข้อมูลว่า 1.เด็กที่จบหลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สามารถทำให้ครอบครัวตนพ้นความยากจนข้ามรุ่นได้ 2.การลงทุนกับกลุ่มเด็กพิการ ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา จะได้ผลตอบแทนคืนสังคม 4.36 เท่า 3.เด็กในสถานพินิจถ้าได้รับโอกาสทางการศึกษา มีงานทำ และไม่ไปยุ่งกับสิ่งผิดกฎหมาย พบว่าผลการระทำผิดวนซ้ำจาก 23% ลดเหลือ 16% และ 4.การให้ทุนการศึกษากับเด็กในกับเด็กยากจนพิเศษ ทำให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษา 97.88%

“สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าถ้าลงทุนกับเด็กบ้านเมืองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ปัจจุบันสถานการณ์เด็กหลุดจากระบบ ดีขึ้นตามลำดับ มาถูกทาง แต่มองว่ารัฐบาลต้องสานต่อพร้อมกับปฏิรูปการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ต้องรีบทำ อย่าให้ถูกปัดตก หรือเลื่อนออกไป พร้อมกับกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น ถ้าผลักดันเรื่องเหล่านี้ มองว่าสังคมไทยจะหลุดพ้นจากความยากจน อาชญากรรมจะลดลง คน 1 ล้านคนจะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป สร้างผลิตผลให้ GDP ของประเทศโตถึง 2-3% ” นายสมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image