‘สพฐ.’แจงแนวทางใช้หลักสูตร3ระดับ เน้นยืดหยุ่น แนะ‘บิ๊กร.ร.’ ปรับมายด์เซต

‘สพฐ.’แจงแนวทางใช้หลักสูตร3ระดับ เน้นยืดหยุ่น แนะ‘บิ๊กร.ร.’ ปรับมายด์เซต

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ บรรยายเรื่อง “หลักสูตรและตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน” ให้ผู้บริหารสถานศึกษาในโครงการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารโรงเรียนสายสามัญ ที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของกองทัพบก ซึ่งสาระสำคัญ จะเกี่ยวกับ การพัฒนาการศึกษาเป็นกระบวนการที่ต้องสอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยของนักเรียน โดยโรงเรียนควรพิจารณาถึงขอบเขตของความยืดหยุ่นที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน อาทิ การบริหารจัดการหลักสูตร และโครงสร้างเวลาเรียน โดยหลักสูตรการศึกษาของประเทศแบ่งเป็น 3 ระดับหลัก ได้แก่ หลักสูตรชาติ ซึ่งใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง 2560) เป็นแนวทางหลักในการจัดการเรียนการสอนทั่วประเทศ 2.หลักสูตรสถานศึกษาสมรรถนะ ซึ่งเป็นหลักสูตรของแต่ละโรงเรียน และ3หลักสูตรห้องเรียน หลักสูตรชั้นเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนสามารถออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของนักเรียน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น และตอบโจทย์ความสามารถของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ บทบาทสำคัญของผู้บริหารคือการผลักดันให้เกิดอัตลักษณ์ของโรงเรียนที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและสะท้อนถึงความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ การบริหารการศึกษาไม่ควรยึดติดกับข้อจำกัดของโรงเรียนหรือความเคยชินในรูปแบบเดิม ๆ จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน การเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกในสิ่งที่ตนเองถนัดและพัฒนาอย่างเต็มที่ สำหรับองค์ความรู้ที่นักเรียนได้รับจากหลักสูตรสามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้นักเรียนแสวงหาความรู้ตามความถนัดและความสนใจของตนเอง พร้อมทั้งคำนึงถึงมาตรฐานและตัวชี้วัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

“เป้าหมายสำคัญของหลักสูตรคือการมุ่งเน้นมาตรฐานตัวชี้วัด สมรรถนะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โดยสมรรถนะถือเป็นสิ่งที่ต้องติดตัวนักเรียนไปตลอดชีวิต โรงเรียนจึงต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้สามารถปลูกฝังสมรรถนะเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)แสดงให้เห็นถึงแนวทางการบริหารหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาเสริมด้วยหลักสูตรเฉพาะของโรงเรียน เพื่อพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม แต่เป็นการปรับใช้สภาพแวดล้อมรอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาผู้เรียน ดังนั้นสิ่งสำคัญขอฝากให้ผู้บริหาร ผู้นำทุกคนต้องรู้จริง ต้องศึกษา แนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาได้ และปรับ Mindset สร้างโอกาสให้กับนักเรียน โอกาสทุกโอกาสเกิดขึ้นได้ถ้าเราร่วมมือกัน” นางเกศทิพย์ กล่าว

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image