ไฮไลต์บอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 จัดเต็มขบวนพาเหรด เอเอ Bus-โอปอล Miss universe นำทีมถือบอล
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 โดยมีสมาคมธรรมศาสตร์ฯเป็นเจ้าภาพ
บรรยากาศเวลา 13.30 น. เริ่มการแสดงพิธีเปิดโดยกลุ่มผู้นำเชียร์ CU Cheer Leader รุ่นที่ 75 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้ง 17 คน ด้วยการแสดงในบทเพลงอุทยานจามจุรี ในชุดสีชมพู ถัดมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เริ่มการแสดงพิธีเปิดจากกลุ่มผู้นำเชียร์ TU Cheer leader รุ่นที่ 75 ในชุดสีแดง ในบทเพลงธรรมศาสตร์รักกัน
ขณะที่อัฒจันทร์ทั้ง 2 ฝั่งเริ่มมีนิสิต นักศึกษา ทำการฝึกซ้อมการเชียร์ โดยอัฒจันทร์ฝั่งจุฬาฯจะอยู่ทางฝั่งประตูทางเข้าที่ 18 ของสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถาน และอัฒจันทร์ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ทางฝั่งประตูทางเข้าที่ 5 ของสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถาน
ต่อมา เวลา 14.00 น. ขบวนพาเหรดประจำงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ได้เริ่มเดินทางเข้ามาภายในสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถาน ซึ่งจัดขึ้นโดยตัวแทนจากนิสิต นักศึกษา จากทั้ง 2 สถาบัน นำโดยขบวนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และวงโยธวาทิตจากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม โดยภายในขบวนยังมีตัวแทนผู้ถือลูกฟุตบอลที่เป็นศิลปินดาราจากทั้ง 2 สถาบัน อาธิ เอเอ อชิรกรณ์ สุวิทยะเสถียร สมาชิกวง BUS นักศึกษาจากภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬา และ โอปอล สุชาตา ช่วงศรี รองอันดับ 3 Miss Universe 2024 นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขณะเดียวกัน มีริ้วขบวนเทิดพระเกียรติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ได้รับการอัญเชิญขึ้นประดิษฐานอย่างสมพระเกียรติ เปรียบเสมือนเครื่องหมายแห่งความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งทรงเป็นดั่งเสาหลักที่ค้ำจุนแผ่นดินไทยให้ดำรงอยู่อย่างสงบสุข พระบรมฉายาลักษณ์นี้สะท้อนถึงสายพระเนตรอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาของทั้งสองพระองค์ ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความผาสุกของราษฎร และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชภารกิจอันทรงคุณค่า ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงดำเนินสืบสานและต่อยอดเพื่อให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าสืบไป
ในขบวนเทิดพระเกียรติยังได้อัญเชิญพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มาประดับภายในริ้วขบวน เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีและร่วมถวายพระพรให้ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง พระองค์ทรงเป็นดั่งแรงบันดาลใจแก่พสกนิกรไทย ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้วยความมุ่งมั่นและเสียสละ โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมสิทธิของสตรีและเด็ก รวมถึงการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้มีความเท่าเทียมและเป็นธรรม พระฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในขบวนเทิดพระเกียรตินี้ จึงเป็นเครื่องหมายของพระปรีชาสามารถ และเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย ขบวนเทิดพระเกียรติทั้งหมดได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม รายล้อมด้วยดอกไม้สีทอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระเกียรติยศและความเจริญรุ่งเรือง พานพุ่มที่ประดับอยู่เบื้องล่างเปรียบเสมือนเครื่องราชสักการะที่ประชาชนถวายแด่พระองค์ท่าน เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีที่มั่นคงไม่เสื่อมคลาย
หลังจากนั้นมีตามมาด้วยขบวนเฉลิมพระเกียรติจุฬาฯ และขบวนของจุฬาฯ ที่นำโดยคทากรและวงดุริยางค์จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ขบวนป้ายนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว ตามมาด้วยการอัญเชิญถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เข้ามาในสนามศุภชลาศัยกรีฑาสถาน และขบวนป้ายนามฯ และธรรมจักร และขบวนทูตกิจกรรม
ถัดมาคือขบวนแนวคิดจัดงานจุฬาฯและขบวนจุฬาฯสะท้อนสังคมที่มีการนำเสนอวลีฮิตในปี 2567 ผ่านป้ายการแสดง เป็นคำว่า มะมะมะหมูเด้ง อดทนจนกว่าจะแลนด์ ชีวิตติดแกลม และใครที่ชอบดราม่าขออนุญาตไม่คุยต่อ ตามมาด้วยขบวนล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขบวนพี่เก่าทั้ง 2 สถาบัน
หลังจากเสร็จสิ้นการแสดงขบวนพาเหรดนักฟุตบอลจากทั้ง 2 ฝั่งได้เริ่มลงมาอบอุ่นร่างกายก่อนเริ่มการแข่งขันต่อไป