‘บิ๊กอุ้ม’ เตรียมร่อนหนังสือ กำชับครู-ผู้บริหาร ตรวจเข้มบุหรี่ไฟฟ้า ขู่ใช้เองหรือครอบครองฟันวินัยทันที
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของศธ. เมื่อเร็ว ๆ ได้รับทราบผลการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ตปีการศึกษา 2567 จัดโดย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) โดยในชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6 มีผู้เข้าสอบทั้งหมด 692,696 คน ส่วนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าสอบทั้งหมด 508,839 คน และ มัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าสอบทั้งหมด 218,180 คน ซึ่งในการทดสอบได้มีการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ถึงเหตุผลที่เข้ารับการทดสอบ โอเน็ต พบว่า เพื่อวัดความรู้ความสามารถของตนเอง ร้อยละ 78.66 สอบตามที่สถานศึกษาแจ้ง ร้อยละ 43.71 และเพื่อใช้ผลการศึกษาต่อ ร้อยละ 38.50 ทั้งนี้ นักเรียนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจด้านระบบดิจิทัลและอุปกรณ์ที่ใช้สอบ ด้านบริหารจัดการทดสอบ ในหัวข้อสถานที่สอบ ห้องสอบสะอาด วันและเวลาทดสอบที่มีความเหมาะสม และได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่ไม่เสถียรในบางพื้นที่
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้หารือในส่วนของการขับเคลื่อนติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ หรือ Thailand Zero Dropout โดยทุกหน่วยงานในสังกัดต่างช่วยกันขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้หน่วยงานในสังกัดศธ.สามารถนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้มากถึง 321,640 คน ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันเด็กทั้งหมดที่กลับเข้าสู่ระบบยังได้มีการมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปติดตามดูแลเด็กทุกคนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการหลุดออกนอกระบบอีกครั้ง
“ในปีการศึกษา 2569 จะมีการส่งผลการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout ส่งต่อไปให้คณะการทำงานที่มี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้เรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกิดเป็นการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)ได้รายงานความคืบหน้าการติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบของแต่ละจังหวัด ซึ่งในตอนนี้มี 29 จังหวัดที่ยังไม่สามารถติดตามเด็กได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงได้มอบหมายให้ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดศธ. ไปดำเนินการขับเคลื่อน โดยมี 12 จังหวัดที่อยู่ในโครงการนำร่องของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ไม่สามารถติดตามเด็กได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์จึงต้องมีการหารือเพื่อตรวจสอบว่าปัจจัยไหนที่ทำให้ไม่สามารถติดตามได้ครบ”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมอบหมายให้ศธ. เป็นเจ้าภาพหลักบูรณการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมได้แต่งตั้งนายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. ให้เป็นประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของศธ. ทั้งนี้คณะทำงานชุดดังกล่าวที่ตั้งขึ้นจะกลับไปจัดทำแผนการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเริ่มตั้งแต่แผนการแก้ปัญหาระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น อีกทั้งจะมีการเชื่อมการทำงานไปยังหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
“ขณะนี้ศธ.ยังรอการปรับแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เนื่องจากมีช่องทางที่สามารถแก้ไขระเบียบข้อบังคับตามประกาศ เรื่อง การกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 โดยสามารถมอบอำนาจแก่ผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือครูฝ่ายปกครองที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสถานศึกษา ให้สามารถทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงาน ตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้าตามข้อกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ภายในขอบเขตของสถานศึกษาเท่านั้นได้”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะมีการออกหนังสือราชการเพื่อกำชับไปยังครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้บริหารในศธ.ทุกคนว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นของผิดกฎหมาย หากตรวจพบหรือมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า จะไม่ปล่อยผ่านไปอย่างแน่นอน และจะถือโทษความผิดทางวินัยแก่บุคคลเหล่านั้นด้วย เพราะครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือแม้กระทั่งผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กนักเรียน ไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเสียเอง