นักวิชาการชี้ กรณีศาลยกเลิกกฎทรงผม เป็นก้าวสำคัญด้านสิทธิเด็ก

นักวิชาการชี้ กรณีศาลยกเลิกกฎทรงผม เป็นก้าวสำคัญด้านสิทธิเด็ก

กรณีศาลปกครองสูงสุดเผยแพร่คำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ฟร.24/2563 เพิกถอนกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียนนั้น

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการทางการศึกษา กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่มีคำพิพากษาออกมาเพื่อยกเลิกคำสั่งที่เป็นการลิดรอนสิทธิของเด็ก ซึ่งกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคณะปฎิวัติควรจะยกเลิกไปทั้งหมด และถือว่าเป็นเรื่องที่ดีของสังคมไทย แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางกฎหมายของประเทศ นอกจากการยกเลิกกฎเกี่ยวกับทรงผมของศาลปกครองในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายสำคัญอีกหลายอันที่อยู่ในกระบวนการต่างๆ เช่น การถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ว่าด้วยการคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เหตุด้วยไทยได้ดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานตามมาตราการที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครอง และจัดบริการสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิงมาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

“ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการให้ความสำคัญกับสิทธิของเด็กมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ถือเป็นการยกระดับในแง่ของการใช้ชีวิต ความคิด และความเข้าใจต่อเด็กและเยาวชนมากขึ้น ทั้งนี้ในตัวบริบทของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสถานศึกษาเองก็จะต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่และนำคำสั่งศาลมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ถึงแม้กฎหมายจะมีความก้าวหน้าขึ้นมาก็ตามแต่สุดท้ายอำนาจยังเป็นสถานศึกษาที่ยังสามารถกำหนดความเหมาะสมของทรงผมได้จึงควรให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการวางกฎระเบียบตรงนี้ขึ้นมาด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่การหารือกับกรรมการสถานศึกษาเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะไปขัดกับเจตนารมณ์ของศาลได้”นายสมพงษ์ กล่าว

ADVERTISMENT

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อยากจะให้ต่อยอดไปและสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิเด็กของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพราะส่วนใหญ่ครูและผู้บริหารสถานศึกษายังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้เท่าที่ควร ซึ่งส่งผลให้มีการตีความต่อเรื่องสิทธิเด็กกลายเป็นเรื่องของการเรียกร้อง การประท้วง การทำให้โรงเรียนไม่สงบ ซึ่งถือเป็นช่องว่างระหว่างวัยที่สำคัญของครูและเด็ก จึงควรจะมีการพูดถึงพื้นที่ปลอดภัยสำหรับให้ครูและนักเรียนมาปรับความเข้าใจต่อกัน ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยและเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน การปรับทัศนคติของครูและผู้บริหารสถานศึกษาให้เห็นความสำคัญของสิทธิเด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและควรมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image