เทียบมาตรฐานโอเน็ต-TGAT/TPAT ‘ศธ.’เดินหน้าใช้เข้ามหา’ลัย ถกทปอ.เพิ่มทางเลือก
นายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ ได้หารือร่วมกับผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อหาแนวทางในการนำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต มาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ด้วยระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาสอบโอเน็ตเพิ่มขึ้น
“ที่ประชุม หารือกันในประเด็นการนำผลสอบโอเน็ต มาใช้ในการเข้าเรียนต่อ โดยเทียบเคียงกับทั้ง การสอบวัดความรู้เชิงวิชาการหรือ A-Level และการทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ TGAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ TPAT เพื่อลดภาระเด็ก เนื่องจากว่าการสอบโอเน็ตเป็นการประเมินผลการจัดการศึกษาระดับชาติ ซึ่งคะแนนมีความสำคัญต่อเด็กที่ต้องการศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยพบว่า มีหลายประเทศที่ต้องใช้คะแนนโอเน็ตเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญในการศึกษาต่อ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เยอรมัน แคนาดา เป็นต้น ดังนั้ร การสอบโอเน็ตจึงถือว่ายังมีความจำเป็น”นายสิริพงษ์ กล่าว
นายสิริพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการหารือได้มีการพูดถึงการนำรายวิชาภาษาอังกฤษ ของการสอบโอเน็ตและการสอบTGATมาเทียบเคียงกัน และพบว่า มีมาตรฐานการสอบแบบเดียวกันคือ Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) หรือ กรอบอ้างอิงมาตรฐานสากลที่ใช้อธิบายระดับความสามารถในการใช้ภาษา แต่อาจมีบางรายละเอียด ของตัวชี้วัดที่ไม่ตรงกัน เรื่องนี้ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะเป็นผู้ดำเนินการหาแนวทางในการปรับรายละเอียดของตัวชี้วัดให้เท่ากัน
“การพูดคุยครั้งนี้ เป็นการหารือในภาพรวมแต่ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี ขั้นต่อไปคือการหารือกับทางที่ประชุมอธิบการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งหากทางทปอ.เห็นด้วย คาดว่าจะสามารถนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ เร็วที่สุดคือภายใน 2 ปีเพื่อให้โรงเรียนต่างๆได้ปรับตัว ทั้งนี้ในการหารือยังได้มีการพูดถึงแนวทางในการเลื่อนสอบโอเน็ตให้เร็วขึ้นมาเป็นช่วงภาคเรียนที่ 1 เพื่อให้สามารถนำคะแนนไปใช้เป็นองค์ประกอบในในรอบที่1รอบพอร์ตโฟลิโอ ได้ทัน“นายสิริพงษ์ กล่าว
นายสิริพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ต้องขอย้ำว่าแม้จะมีการปรับให้สามารถใช้คะแนนสอบโอเน็ตในการเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ยังใช้ระบบสมัครใจในการสอบเช่นเดิมไม่มีการเปลี่ยนกลับไปเป็นการบังคับสอบ การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้เป็นเพียงการเพิ่มทางเลือกให้กับเด็กนักเรียนให้สามารถเลือกสอบโอเน็ตหรือ A-Level และ TGAT/TPAT ซึ่งจะช่วยลดภาระ ไม่จำเป็นต้องสอบหลายครั้ง ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้สามารถวางแผนการเรียนและการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน