สพฐ.ชงเพิ่มเงินเดือน ลูกจ้างเท่าข้าราชการ หลังถูกหั่นงบประกันสังคม ลุ้นก.คลังไฟเขียว

สพฐ.ชงเพิ่มเงินเดือน ลูกจ้างเท่าขรก. หลังถูกหั่นงบประกันสังคม ลุ้นก.คลังไฟเขียว

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เข้าชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการ(กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นประธาน กรณีสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง เรียกร้อง ขอเปลี่ยนจากการจ้างเหมาบริการ เป็นวิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราว พร้อมเงินสมทบประกันสังคมทุกตำแหน่ง,ขอปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาล ที่ปรับฐานเงินเดือนตามคุณวุฒิปริญญาตรี ปีที่ 1 มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เงินเดือน 16,500 บาท

ปีที่ 2 มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เงินเดือน 18,150 บาท คุณวุฒิต่ำกว่า ป.ตรี ปีที่ 1 วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เงินเดือน 10,340 บาท วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เงินเดือน 11,380 บาท และขอปรับตำแหน่งความมั่นคงในอาชีพลูกจ้าง สพฐ.ทุกตำแหน่ง

โดยปัจจุบัน สพฐ. มีลูกจ้างในสังกัด 72,044 คน ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ. ได้ทำหนังสือ ไปที่สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ. )ซึ่งทุกหน่วยงานก็ได้มีหนังสือตอบมาแล้วว่า สพฐ. จะต้องทำความตกลงกับ กระทรวงการคลัง เพื่อปรับเปลี่ยนจากจ้างเหมา เป็นลูกจ้างชั่วคราวก่อน ถ้ากระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ก็ให้ทำหนังสือกลับไปที่สำนักงานก.พ.เพื่อขอกรอบอัตรากำลัง ขณะเดียวกันในระหว่างที่รอหนังสือตอบกลับจากกระทรวงคลัง

ADVERTISMENT

สพฐ.ได้ทำหนังสือเสนอครม.เพื่อขออนุมัติเปรียบเทียบเงินเดือนกลุ่มลูกจ้าง ให้เท่ากับข้าราชการทั่วไป ที่ได้ปรับเพิ่มตามมติครม. เมื่อปี2566 ซึ่งอนุมัติให้ปรับเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้ง คือ พฤษภาคม 2567 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ซึ่งลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์นี้อยู่แล้ว แต่สพฐ. ได้ทำหนังสือเพื่อเสนอเทียบเคียงเงินเดือนเพื่อชดเชยให้บุคลากรกลุ่มนี้

ADVERTISMENT

“ส่วนกรณีที่สิทธิประกันสังคม จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมนี้นั้น ทางสพฐ. ได้เสนอเปรียบเทียบเงินเพื่อชดเชยให้ ผู้ที่ต้องการใช้สิทธิประกันสังคมต่อเนื่องก็สามารถจ่ายเงินสมทบได้ในมาตรา 39 และมาตรา40 เพราะตอนนี้ สำนักงบประมาณ ไม่ได้จัดสรรเงินในส่วนนี้มาให้แล้ว

มาตรการทั้งหมดนี้สพฐ. ได้พูดคุยกับกมธ.การศึกษาฯ และผู้แทนจากกลุ่มสมาพันธ์ฯ เรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งหมดต้องรอหนังสือตอบกลับจากกระทรวงการคลัง จึงจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้ ส่วนจะใช้เวลาเท่าไรนั้น ไม่สามารถตอบได้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าสพฐ.เพิกเฉย แต่ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอน” นายพัฒนะ กล่าว

นายวรวิทย์ อัคราภิชาต ผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง สังกัดสพฐ. เปิดเผยว่า วันที่ 18 มีนาคมนี้ตัวแทนสมาพันธ์ฯ กว่า 1 พันคน เตรียมเดินทางมาทวงถามความคืบหน้า กรณีดังกล่าว  ซึ่งที่ผ่านมาทางสพฐ. รับปากจะหารือกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน( ก.พ.) เพื่อหาแนวทางแก้ไข แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

“สิทธิประกันสังคมของกลุ่มลูกจ้างจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม ทำให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เคยได้รับถูกเพิกถอน ทำให้กลุ่มลูกจ้างกว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ มีความกังวล โดยที่ผ่านมา ทราบว่า ทางคณะกรรมาธิการการศึกษา (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ได้เร่งรัดให้ สพฐ. ไปหารือกระทรวงการคลัง และก.พ. เพื่อขอคืนกรอบอัตรากำลัง แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากสพฐ.” นายวรวิทย์  กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image