บิ๊กอุ้มปลื้ม โอเน็ตคณิต-วิทย์คะแนนพุ่ง หนุนใช้เข้ามหา’ลัย ยันข้อสอบได้มาตรฐานปิซ่า
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร ศธ.ว่า สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้รายงานผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในปีนี้สูงทุกสังกัด และมีคะแนนสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผู้บริหาร ศธ.มีการปรับเปลี่ยนและช่วยกันทำงานส่งผลให้คุณภาพการศึกษามีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ส่วนที่ยังไม่ดีขึ้นก็ต้องช่วยกันปรับปรุงและเติมเต็ม ซึ่งในส่วนของผลสอบโอเน็ต จะนำไปใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งในส่วนของรายบุคคลและสถานศึกษา
“ขอฝากผู้บริหารทุกคน ให้ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมขององค์กรและให้คุณค่าในการประเมินผลโอเน็ต เพื่อวัดระดับการศึกษาของนักเรียน และนำผลมายกระดับคุณภาพสถานศึกษา ในส่วนที่จะนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือสอบเรียนต่อนั้น ถือเป็นอีกมิติหนึ่งในการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งขอให้เป็นไปตามความสมัครใจ ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าโอเน็ตเป็นมาตรฐานกลางที่ต้องประเมินอยู่แล้ว หากใช้ประกอบในการคัดกรองหรือชี้ให้เห็นถึงความถนัดของเด็ก ก็จะช่วยในการเลือกสาขาในการเรียนได้ รวมถึงสถานศึกษาต่างๆ ที่อาจนำผลสอบโอเน็ตไปใช้ในการเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 และ ม.4 ซึ่งทุกอย่างขอให้เป็นไปโดยความสมัครใจ เป็นประชาธิปไตยไม่ใช่การบังคับ ส่วนมาตรฐานข้อสอบนั้น ก็เชื่อว่ามีมาตรฐานและมีการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและขณะนี้มีการปรับปรุงให้อิงกับมาตรฐานการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติหรือปิซ่า ที่ไม่ใช่การวัดความรู้ความจำเท่านั้น แต่เป็นการวัดการอ่าน และการคิดเชิงวิเคราะห์” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับรายงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบหรือTHAILAND Zero Dropout โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รายงานผลการดำเนินงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ โดยข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ณ 10 มีนาคม 2568 พบว่ามีเด็กนอกระบบการศึกษาจำนวน 1,025,514 คน ติดตามแล้ว 980,588 คน คิดเป็นร้อยละ 95.62 สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในประเทศ 320,724 คน คิดเป็นร้อยละ 31.27 และยังไม่ได้ติดตาม 44,926 คน คิดเป็นร้อยละ 4.38 การติดตามข้อมูลเด็กในวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาภาคบังคับ อายุ 6-15 ปี สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 73,744 คน คิดเป็นร้อยละ 16.65
“ขอให้ติดตามเด็กกลับมาให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้าในปีการศึกษานี้ต้องไม่มีเด็กหลุดจากระบบ และในปีการศึกษาหน้า ในเรื่องการติดตามเด็กน่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองในพื้นที่ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ครูมีหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังรับทราบมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบภัยพิบัติ กรณีสถานการณ์อุทกภัยและโกดังเก็บสินค้าดอกไม้เพลิงระเบิด จำนวน 10 โรงเรียน ในวงเงิน 1,985,151 บาท และเห็นชอบแต่งตั้งนายวีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สสวท. รวม 13 ราย