นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงาน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นดีพี) ไทยแลนด์ ได้เชิญตนให้เป็นตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และประเทศไทย ไปร่วมการประชุมระดับโลก เรื่องสึนามิ ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยตนได้ไปเล่าถึงการทำงาน และการตั้งรับสถานการณ์การเกิดสึนามิในพื้นที่ความเสี่ยงสูง 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันของไทยอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยต้องขอขอบคุณยูเอ็นดีพี และ ยูเอ็นดีพี ไทยแลนด์ รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ให้การสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด
“ตอนนี้ในพื้นที่บริเวณรอบ 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันของไทย ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล และตรัง มีเด็กประมาณ 7 พันกว่าคนที่รับรู้และเข้าใจเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็มีครูอีก 471 คน ที่เข้าใจแล้วเช่นกัน ซึ่งก็ยังคงต้องรักษาสภาพความเข้าใจและการเตรียมพร้อมรับมือนี้ไว้ เพราะพื้นที่นี้ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก”รองเลขาธิการกพฐ. กล่าว
รองเลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ สพฐ.เอาใจใส่ และ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.ก็ได้กำชับให้ฝ่ายการศึกษาในจังหวัดโดยรอบพื้นที่เฝ้าระวังให้เป็นปกติ และตอนนี้มีเรื่องที่น่าสนใจ คือ ยูเอ็นดีพี ได้ร่วมกับ ประเทศอินโดนีเซียทำแอปพลิเคชันประเมินสถานการณ์และเตือนภัยสึนามิ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีประโยชน์มาก โดยตนจะหารือกับเลขาธิการ กพฐ.ว่า จะสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชั่นที่ยูเอ็นดีพีพัฒนาขึ้น