ถกใช้โอเน็ต เข้ามหา‘ลัย อาจารย์มช.ชี้ยังผิดวัตถุประสงค์ ควรหาข้อสรุปก่อนใช้จริง
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการนำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต มาใช้เป็นองค์ประกอบในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย โดยเบื้องต้นทาง อว.เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ต้องเป็นในรายวิชาที่ได้มาตรฐานเดียวกัน เช่น วิชาภาษาอังกฤษ อีกทั้งการสอบโอเน็ตยังไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองนั้น
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายทศพร พิชัยยา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าโอเน็ตยังไม่เหมาะกับการใช้เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะวัตถุประสงค์การสอบมีความแตกต่างกัน การสอบโอเน็ตเป็นการวัดผลการเรียนรู้ตลอดหลักสูตรขั้นพื้นฐาน แต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะเป็นการสอบแข่งขันเพื่อหาเด็กนักเรียนที่มีความเหมาะสมกับคณะ/สาขา เข้าเรียนต่อ ซึ่งมีระดับความยาก ง่ายและการวัดความเข้าใจของข้อสอบต่างกัน ดังนั้น มหาวิทยาลัยเองก็มองว่าข้อสอบโอเน็ตไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้เข้ามหาวิทยาลัย
“ในปี 2561 เป็นต้นมาได้มีการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยมาเป็นระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส โดยใช้การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT ความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และวิชาสามัญเกิดขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยยกเลิกการทำข้อสอบของตนเองมาใช้ระบบส่วนกลาง ซึ่งข้อสอบเหล่านี้เป็นข้อสอบคัดเลือกที่มีความยากมากกว่าโอเน็ต ฉะนั้นการจะใช้คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยควรจะมาจากข้อสอบที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อการแข่งขันจึงจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์” นายทศพรกล่าว
นายทศพรกล่าวต่อว่า ถ้าปรับให้มีการใช้คะแนนโอเน็ตในการเข้าสู่มหาวิทยาลัยควรจะมีการปรับความยากของข้อสอบโอเน็ตให้มีความสามารถในการคัดแยกกลุ่มเด็กได้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับมหาวิทยาลัยในการนำมาใช้เพื่อคัดเลือกเด็กที่มีความเหมาะสม ซึ่งหมายความว่าการสอบแบบนี้จะไม่ใช่การสอบโอเน็ตอีกต่อไปเพราะวัตถุประสงค์ของการสอบนั้นถูกเปลี่ยนออกไปเช่นกัน
“อีกหนึ่งปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการนำข้อสอบโอเน็ตมาใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัยคือเรื่องของปฏิทินการสอบ ซึ่งการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยตามระบบทีแคสในรอบพอร์ตโฟลิโอจะเริ่มต้นในช่วงต้นภาคเรียนที่ 2 แต่การสอบโอเน็ตจะเริ่มขึ้นในช่วงท้ายภาคเรียนที่ 2 ซึ่งทำให้การนำคะแนนโอเน็ตมาใช้เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามีการปรับให้การสอบโอเน็ตเริ่มขึ้นในภาคเรียนที่ 1 ก็จะไปสวนทางกับเจตนารมณ์ของการสอบที่ต้องการวัดการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนจากทั้ง 2 ภาคเรียน“ นายทศพรกล่าว
นายทศพรกล่าวต่อว่า อยากจะให้ทั้ง ศธ.และ อว.รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทำการหาข้อสรุปออกมา โดยหวังว่าจะไม่ไปกระทบกับระบบการสอบและเจตนารมณ์ของการสอบมากจนเกินไป
ด้าน นายสมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัยจะเป็นผลดีกับทางมหาวิทยาลัย เพราะจะมีผลสอบที่สามารถบอกได้ว่าเด็กที่มาสมัครเข้าเรียนมีความรู้ความสามารถและความถนัดในส่วนไหน ซึ่งมหาวิทยาลัยก็สามารถนำผลสอบตรงนี้มาทำหลักสูตรปรับพื้นฐานให้กับนักศึกษาใหม่ได้ ทั้งนี้หากมีการปรับใช้จริงมหาวิทยาลัยก็จะทำตามระบบที่ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกแบบมาสำหรับการสอบต่อไป