สอศ.แจงครูสอบผ่านนั่งผอ.อาชีวะ เป็นเรื่องปกติ ยันจัดสอบโปร่งใส ตามเกณฑ์ก.ค.ศ. 

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยถึงกรณีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ว่าการสอบคัดเลือกดังกล่าวตนขอชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการที่เป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด ซึ่งกระบวนการสอบคัดเลือกไม่ได้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาดำเนินการ โดยการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น เป็นตำแหน่งที่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จึงทำให้มีตำแหน่งว่าง 33 ตำแหน่ง และใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกตามที่ อ.ก.ค.ศ.สอศ. ประกาศไว้

นายยศพลกล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการคัดเลือกมาตรฐานตำแหน่งเดิมก่อนที่ ก.ค.ศ. จะมีมติออกหลักเกณฑ์มาตรฐานตำแหน่งการคัดเลือกใหม่ โดยมาตรฐานตำแหน่งใหม่นั้นกำหนดให้การเติบโตจากสายงานรองผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวะเป็นผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะได้ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป แต่ สอศ.ได้เตรียมกระบวนการจัดสอบคัดเลือกมาแล้วจึงทำเรื่องสอบถาม ก.ค.ศ.ว่าหากขอให้หลักเกณฑ์การคัดเลือกด้วยมาตรฐานตำแหน่งเดิมสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่ง ก.ค.ศ.ตอบกลับมาว่า สามารถใช้หลักเกณฑ์เดิมในการจัดสอบได้ โดยมาตรฐานตำแหน่งเดิมกำหนดให้ครูผู้สอนสามารถสมัครสอบคัดเลือกเป็น ผอ.สถานศึกษาอาชีวะได้ คือดำรงตำแหน่งครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการพิเศษ และมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี

“ทั้งนี้ การดำเนินการสอบคัดเลือกหลายครั้งที่ผ่านมาก็พบมีผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งครูสามารถผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษามาแล้วหลายรายจึงถือเป็นวินัยปกติหากผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งครูสามารถผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาในการคัดเลือกครั้งนี้ ประกอบกับผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งครูได้ผ่านการประเมินตามหลักสูตร องค์ประกอบ และตัวชี้วัดที่กำหนดเช่นเดียวกับผู้ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุ และแต่งตั้งรายอื่น ดังนั้น จึงถือได้ว่าผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งครู ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้มีความพร้อมในด้านความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เช่นกันตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ค.ศ.กำหนดทุกประการ และเป็นแนวปฏิบัติที่เคยใช้ดำเนินการคัดเลือกมาแล้ว” นายยศพลกล่าว

ด้าน นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ในฐานะที่ตนรับผิดชอบดูแลฝ่ายงานบุคคลขอชี้แจงว่า การสอบคัดเลือกดังกล่าวเป็นไปตามการประเมินตามองค์ประกอบ ตัวชี้วัด และสัดส่วนคะแนน ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา และคณะกรรมการที่เข้ามาร่วมกระบวนการคัดเลือกไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการคัดเลือกในครั้งนี้ และเป็นกรรมการที่ได้มาจากการจับสลากคัดเลือก โดยคำนึงถึงสมรรถนะของผู้บริหารอาชีวศึกษา ที่ต้องเป็นผู้มีสมรรถนะด้านการปฏิบัติงาน เนื่องจากโครงสร้างการบริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าด้วยการบริหารสถานศึกษา พ.ศ.2552 ได้กำหนดโครงสร้างการบริหารสถานศึกษาภายในสถานศึกษา แบ่งเป็น 4 ฝ่าย 27 หัวหน้างาน ไม่นับรวมหัวหน้าแผนกวิชาที่จะมีขึ้นตามการจัดการเรียนการสอนของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งเป็นการบริหารทั้งด้านงานวิชาการ บุคลากร แผนและงบประมาณ การเงิน การคลังและพัสดุ และความร่วมมือกับภาคส่วนภายนอกสถานศึกษา โดยได้รับเสียงสะท้อนจากตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษาผ่านคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา

ADVERTISMENT

“ที่ผ่านมาการสอบภาค ก จะเน้นการสอบด้านวัดสมรรถนะเพียงอย่างเดียวไม่มีการสอบข้อเขียน ดังนั้น สอศ.จึงได้ออกแบบการคัดเลือกหลายรูปแบบ เช่น สอบข้อเขียนเพียงอย่างเดียว ผสมผสานสัดส่วนคะแนนเท่ากันระหว่างการสอบข้อเขียนและการประเมินประวัติ ผลงาน และวิสัยทัศน์ คัดเลือกโดยการประเมินประวัติ ผลงาน และวิสัยทัศน์เพียงอย่างเดียวเมื่อปี 2562 ดังนั้น ในการจัดทำองค์ประกอบ ตัวชี้วัด และสัดส่วนคะแนนในครั้งนี้ จึงได้กำหนดให้มีการสอบข้อเขียนขึ้น แต่กำหนดสัดส่วนคะแนนให้น้อยลง และไปเพิ่มสัดส่วนคะแนนในส่วนของการประเมินประวัติ ผลงาน และวิสัยทัศน์ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ที่ต้องการผู้บริหารที่เน้นสมรรถนะด้านการปฏิบัติ” นายณรงค์ชัยกล่าว

นายณรงค์ชัยกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้กำหนดการคัดเลือกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาค ก ความรู้และความสามารถในการบริหารในหน้าที่ (คะแนน 10 คะแนน) ดำเนินการด้วยวิธีสอบข้อเขียนแบบปรนัย จำนวน 100 ข้อ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบในการออกข้อสอบ คัดเลือกข้อสอบ พิมพ์ข้อสอบ จัดห้องสอบ ควบคุมการสอบ และตรวจข้อสอบทั้งหมด ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ (คะแนน 60 คะแนน) แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 การประเมินประวัติ ประสบการณ์ และผลงาน (คะแนน 40 คะแนน) มีตัวชี้วัดจำนวน 3 ข้อ ได้แก่ ข้อ 1 ประสบการณ์และการพัฒนาตนเอง (คะแนน 10 คะแนน) ประกอบด้วย 3 ข้อย่อย ได้แก่ คุณวุฒิการศึกษา วิทยฐานะ ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยการประเมินส่วนนี้จะพิจารณาจากเอกสารหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้นไม่มีการใช้ดุลพินิจจากคณะกรรมการ

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image