ว.บริหารธุรกิจนวัตกรรมฯ เซ็นเอ็มโอยู บ.เจ้าของแบรด์ ‘เต่าบิน’ พัฒนาเทคโนฯดิจิทัล น.ศ.

ว.บริหารธุรกิจนวัตกรรมฯ เซ็นเอ็มโอยู บ.เจ้าของแบรด์ ‘เต่าบิน’ พัฒนาเทคโนฯดิจิทัล น.ศ.

นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยถึงการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ดัง “เต่าบิน” เพื่อยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในด้านธุรกิจให้แก่นักศึกษา และพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน พร้อมส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกัน ว่า วิทยาลัย CIBA มุ่งหวังให้นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการทำงานจากบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม โดยบริษัทฟอร์ทฯ ถือเป็นองค์กรตัวอย่างที่มีการพัฒนา มีการประดิษฐ์คิดค้น หรือนวัตกรรม และปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการถูก Disrupt อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทฤษฎีที่นักศึกษาได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัย ความร่วมมือนี้จะช่วยให้นักศึกษามั่นใจว่าไทยมีบุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง นอกจากนี้ ความร่วมมือยังมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังคณะอื่นๆ เช่น วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ และคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม เป็นต้น

“หลังจากนี้จะนำนักศึกษาไปศึกษาดูงานที่บริษัทฟอร์ทฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานในองค์กรที่มีนวัตกรรมในระดับดีมาก และเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจว่าการทำงานไม่ใช่เพียงแค่การเป็นพนักงานบริษัทเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้วิธีการทำงานที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสิ่งที่นักศึกษาจะได้เมื่อไปฝึกงานกับบริษัทนี้ คือพื้นฐานของการคิดอย่างสร้างสรรค์ตลอดเวลา” นางสุกานต์ กล่าว

ADVERTISMENT

ด้านนายวันรัฐ ผาติหัตถกร ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรการ บริษัทฟอร์ทฯ กล่าวว่า บริษัทฟอร์ทฯ ก่อตั้งมาแล้วกว่า 36 ปี แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผลิตชิ้นส่วนให้แก่บริษัทระดับโลกอย่าง Tesla 2.Enterprise Solution ดำเนินงานด้านนวัตกรรมให้กับภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เช่น การผลิตสัญญาณไฟอัจฉริยะ และการทำงานร่วมกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ในลักษณะศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน และ 3.Smart Service Business อาทิ ตู้บุญเติม ตู้เต่าบิน และ EV Charger โดยหัวใจสำคัญของบริษัท คือ มีทีมวิจัยและพัฒนาเป็นของตัวเอง ไม่ได้พึ่งพานวัตกรรมของต่างประเทศ

ADVERTISMENT

นายวันรัฐกล่าวอีกว่า ทางบริษัทดำเนินโครงการรับนักศึกษาฝึกงานจากหลากหลายสถาบันการศึกษา หนึ่งในนั้นมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ผ่านมาพบว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้รับการปลูกฝังองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและธุรกิจมาตั้งแต่ต้น ส่งผลให้เมื่อเข้าสู่กระบวนการฝึกงาน สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการประยุกต์ใช้ระบบซอฟท์แวร์บริหารงานบุคคล ERP-SAP ซึ่งเป็นระบบที่มีความซับซ้อน และมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ นักศึกษาของ DPU ที่เข้ารับการฝึกงานในแผนกธุรกิจระหว่างประเทศ ได้แสดงให้เห็นว่าการผสมผสานระหว่างความรู้ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ที่ได้รับจากสถาบันการศึกษา ส่งผลให้นักศึกษามีศักยภาพ และสามารถปฏิบัติงานได้จริง

“จากการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ บริษัทมีแผนจะรับนักศึกษาจาก DPU ฝึกงาน 20-30 คน สาขาที่ต้องการมากที่สุด คือการบัญชี เนื่องจากทำงานได้หลากหลาย รองลงมา โลจิสติกส์ และธุรกิจระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่จำกัดว่านักศึกษาจะต้องฝึกงานในสายตรงที่เรียนมา หากสนใจในสายงานอื่น บริษัทก็พร้อมเปิดโอกาส แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยเห็นว่านำไปใช้ประกอบผลการเรียนได้ ทักษะสำคัญที่บริษัทต้องการจากนักศึกษาฝึกงานคือความคิดเชิงนวัตกรรม และการเปิดใจเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทเห็นได้ชัดจากนักศึกษาของ DPU ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมด้านศึกษา” นายวันรัฐ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image