จุฬาฯ จับมือ MIT LGO เปิดตัวหลักสูตร Chula-LGO ปั้นผู้นำอุตสาหกรรมระดับโลก
นายวิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวในการเปิดตัว Chula-LGO หลักสูตรปริญญาโท ว่า Chula-LGO ไม่ใช่เพียงหลักสูตรปริญญาโททั่วไป แต่เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของไทยให้ทัดเทียมระดับสากล ด้วยความร่วมมือจาก MIT LGO นิสิตของจุฬาฯจะได้รับองค์ความรู้ที่ทันสมัย เรียนรู้จากอุตสาหกรรมจริง และเตรียมพร้อมสู่บทบาทของผู้นำในระบบเศรษฐกิจโลก Chula-LGO เป็นหลักสูตรปริญญาโท 2 ปีที่ออกแบบมาเพื่อมอบประสบการณ์การเรียนรู้แบบสหสาขาวิชา นิสิตจะได้รับปริญญาโทจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ควบคู่กับ MBA จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ โดยมีการออกแบบการเรียนที่ลงเชิงลึกทั้งเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติจริงและมีโอกาสเข้าร่วมโครงการศึกษาที่ MIT LGO เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมถึงโครงการวิจัยและฝึกงานระยะ 6 เดือนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นิสิตมีความพร้อมในโลกแห่งความเป็นจริง
นายวิเลิศ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างจุฬาฯกับสถาบัน MIT LGO ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความร่วมมือการจัดทำหลักสูตรแต่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยระดับประเทศที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทยในวงการการศึกษา ซึ่งความร่วมมือนี้ไม่ใช่แค่สร้างคุณภาพการศึกษาระหว่างประชากร หรือการผลิตบัณฑิตสู่การเป็นผู้นำประเทศเท่านั้น แต่จะสร้างพลเมืองระดับโลก เนื่องจากความร่วมมือนี้เกิดขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับชั้นนำทั้งสองแห่ง ซึ่งความร่วมมือนี้ไม่ใช่แค่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาแต่พัฒนาคุณภาพคนควบคู่ไปด้วย
“หลักสูตรนี้จึงเป็นหลักสูตรใหม่ที่จะทำให้คนในประเทศตื่นตัวมากขึ้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเอง เนื่องจากทุกวันนี้โลกไม่ได้หมุนรอบเราแต่เราต้องหมุนรอบโลก และไม่ว่าโลกเกิดอะไรขึ้นเราอาจจะต้องนำมาสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาพิจารณาและทำให้มีคุณภาพ เพราะเรื่องการศึกษาไม่ใช่แค่การก้าวตาม แต่เราจะต้องก้าวนำให้รวดเร็ว ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวจะเป็นหลักสูตรที่เป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาและสร้างโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะจุฬาฯจะสร้างผู้เรียนที่มีความรู้หลากหลายด้าน ความร่วมมือระหว่างจุฬาฯและ MIT LGO ในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีศักยภาพ” นายวิเลิศ กล่าว

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันต้องการบุคลากรที่มีทั้งความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร หลักสูตร Chula-LGO จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคการศึกษาและธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่สามารถแข่งขันในตลาดโลก และ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง การแข่งขันของโลกในตอนนี้ไม่สามารถทำให้ไทยเดินหน้าแบบที่เคยเป็นได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแข่งขันต่างๆได้ ซึ่งตอนนี้ในภาคอุตสาหกรรมเต็มไปด้วยกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญเพียงด้านเดียว แต่ความต้องการที่เปลี่ยนไปของโลกทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องการบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ซึ่งหลักสูตรนี้จะตอบโจทย์การผลิตกำลังคนที่มีความสามารถหลายด้านได้ อยากจะขอเชิญชวนเอกชนให้ส่งบุคลากรเข้ามาเรียนรู้หลักสูตรนี้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปด้วยกัน

ด้าน นายวิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือวิศวกรรมศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีอีกต่อไปแต่ต้องสามารถผสานเข้ากับการจัดการธุรกิจและการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ Chula-LGO จึงเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ผู้นำในอุตสาหกรรมอนาคต โดยเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะเชิงลึกทั้งในด้านเทคนิค นวัตกรรม และการบริหาร สำหรับกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรคือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับ สะเต็มศึกษา (STEM Education) และต้องการต่อยอดความรู้ความสามารถของตัวเอง

ด้าน นายธารทัศน์ โมกขมรรคกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ธุรกิจยุคใหม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการโช่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ Chula-LGO มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนักวางแผนกลยุทธ์ที่สามารถตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กร รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้หลักสูตรนี้คาดว่าจะเปิดได้เร็วที่สุดในปีการศึกษา 2568 และจะรับนิสิตเข้าเรียนต่อ 1 รุ่นประมาณ 20 คน

Prof. Yanchong Karen Zheng, Director, Leaders for Global Operations Program, MIT Sloan School of Management ผู้บริหารจาก MIT LGO กล่าวว่า ความสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ คือความมุ่งมั่นของ MIT LGO ในการสนับสนุน Chula-LGO ให้ก้าวไปข้างหน้า MIT LGO มีความ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับจุฬาฯในโครงการนี้ ความร่วมมือนี้จะไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ยังรวมถึงการทำวิจัยร่วมกัน การแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และ นิสิตนักศึกษา ตลอดจนการมีส่วนร่วมของ MIT LGO ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไกลไปพร้อมกับมาตรฐานระดับโลก Chula-LGO ไม่ได้เป็นเพียงหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเท่านั้นแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยในยุคที่ ดิจิทัล,เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 กำลังจะเปลี่ยนโฉมโลก ดังนั้น Chula-LGO จะสร้างเครือข่ายของผู้นำรุ่นใหม่ที่สามารถปรับตัวและนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในระดับสากล
