เผยผลสำรวจ อัตราคนไทยรู้หนังสือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ98 ชี้เติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะที่อัตราไม่รู้หนังสือ 51 จังหวัดต่ำกว่าร้อยละ1 ‘แม่ฮองสอน’ ยังวิกฤต กลุ่มสูงวัย พบปัญหาอ่านน้อย เกิดภาวะการลืมหนังสือ ‘สกร.’ เร่งแก้ไข เล็งของบปัดฝุ่น ที่อ่านหนังสือหมู่บ้านกว่า 5.4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วย นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) แถลงผลการสำรวจการรู้หนังสือของประชากรไทย ปี 2568 โดยนายประวิต กล่าวว่า ผลสำรวจการรู้หนังสือของประชากรมีความสำคัญต่อประเทศอย่างมาก เพราะการจัดอันดับความสามารถด้านการศึกษาของประเทศในระดับสากลจะนำอัตราการรู้หนังสือ มาใช้วัดทั้งเรื่องของคุณภาพไปจนถึงความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ประเทศไทยมีการเก็บผลสำรวจอัตราการรู้หนังสือของประชากรไว้ล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.2561และได้มีการเก็บผลสำรวจใหม่อีกครั้งในปี2568 ซึ่งสกศ.ดำเนินการร่วมกับสกร. ซึ่งมีครูในสังกัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ช่วยทำการเก็บข้อมูล โดยสุ่มตัวอย่างจาก 7,429 ตำบล กระจายตามสัดส่วนครัวเรือน ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมดว่า 225,963 ครัวเรือน คิดเป็นประชากรทั้งสิ้น 533,024 คน ทำแบบสำรวจการอ่านของประชากร ที่พัฒนาโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำให้ผลที่ออกมามีมาตรฐานเชื่อถือได้
นายประวิต กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจ ฯ พบว่า อัตราการรู้หนังสือของไทยสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ94 เป็นร้อยละ 98.83 โดยอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป อยู่ที่ 1.17% และอายุ 7 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 1.16% เมื่อพิจารณาในรายจังหวัด พบว่า 51 จังหวัด มีอัตราการไม่รู้หนังสือน้อยกว่า 1% ส่วนที่เหลือ 25 จังหวัด มีอัตราการไม่รู้หนังสือระหว่าง 1 – 5% และมีเพียงจังหวัดเดียวที่มีอัตราการไม่รู้หนังสือสูงกว่า 10%
ซึ่งมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.ภาวะการลืมหนังสือ ซึ่งเกิดจากการอ่านที่น้อยลง ทำให้เกิดการถดถอยของทักษะในการอ่านในผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ที่ไม่มีงานทำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ทำให้คุณภาพการอ่านของคนไทยลดน้อยลง 2.ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการรู้หนังสือมากขึ้น คือ แรงขับจากการต้องการมีงานทำโดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรม 3.ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพในการรู้หนังสือของผู้เรียน พบว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษาขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว และ4.สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการรู้หนังสือ และป้องกันภาวะการลืมหนังสือ คือ การกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มกันตามความสนใจ และกลุ่มอายุ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ จะช่วยให้เกิดพัฒนาตนเองกันระหว่างกลุ่ม ขณะที่ข้อมูลการสำรวจอัตราการรู้หนังสือ ของประเทศสมาชิกอาเซียนในปี2565 อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย จะมีอัตราการรู้หนังสืออยู่ที่ร้อยละ 98 เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจล่าสุดของไทยพบว่า อัตราการรู้หนังสือของไทยเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด
“หากจำแนกเป็นอัตราการไม่รู้หนังสือตามระดับการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษา มีกว่าร้อยละ 35.73 แบ่งเป็น กลุ่มก่อนประถมศึกษาร้อยละ 4.72 กลุ่มประถมศึกษาและกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้พบว่ากว่า 51 จังหวัดมีอัตราการไม่รู้หนังสือ ต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การศึกษาสามารถกระจายไปได้ดีในหลายพื้นที่ ส่วนอีก 25 จังหวัด มีอัตราการไม่รู้หนังสืออยู่ระหว่าง ร้อยละ1-5 ส่วนอัตราการไม่รู้หนังสือที่มากกว่าร้อยละ 10 มีเพียงจังหวัดเดียว คือ แม่ฮ่องสอน และเมื่อนำอัตราการรู้หนังสือดังกล่าวไปเทียบเทียบในระดับนานาชาติ โดยใช้ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของสถาบัน International Institute for Management Development หรือIMD ในการพิจารณาจะพบว่า อันดับของอัตราการไม่รู้หนังสือของประเทศไทยจะขยับจากอันดับที่ 59 ไปอยู่ที่อันดับ 37 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี”นายประวิต กล่าว
“อย่างไรก็ตาม สกศ. มีข้อเสนอเชิงนโยบายดังนี้ 1.การเพิ่มอัตราการรู้หนังสือกลุ่มผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ความมั่นคงในชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนสูงวัย 2.การส่งเสริมการรู้หนังสือที่เพิ่มมากขึ้นต้องสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามความสนใจและต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เน้นด้านอาชีพเพิ่มมากขึ้น 3.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอมาช่วยกระตุ้นให้เกิดการอ่านเพิ่มขึ้น รวมทั้งการจัดทำสื่อที่ทันสมัยและน่าสนใจ จะช่วยทำให้ประชากรในทุกช่วงวัยได้มีโอกาสพัฒนากาการอ่านได้ดี และ4.การส่งเสริมให้ประชากรที่ว่างงานมีงานทำเป็นอีกหนึ่งกลใกที่ช่วงส่งเสริมให้ประชากรที่ว่างงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะการลืมหนังสือได้มีการพัฒนาตนเอง และพัฒนาทักษะการอ่านได้ดี” นายประวิต กล่าว
ด้าน นายธนากร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสกร.ส่งเสริมการอ่าน โดยสร้างที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ไว้ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศกว่า 54,000 แห่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีของผู้สูงวัย ก่อนที่จะส่งต่อโครงการนี้ให้กับท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลตามพ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งเมื่อเปลี่ยนหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ทำให้ไม่มีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะการลืมหนังสือในผู้สูงอายุ โดยตนจะทำการเสนอเรื่องกับศธ.เพื่อของบประมาณ ให้มีการฟื้นฟูที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รวมตัวทำกิจกรรมอ่านหนังสือ ทำให้ผู้สูงวัยเกิดการเรียนรู้ ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยในทุกช่วงวัย