จุฬาฯระดมกูรู รับมือแผ่นดินไหว นักวิชาการชี้ รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน แนะปชช.เตรียมพร้อมรับมือ จี้บังคับใช้กม.ก่อสร้างอาคารเข้ม
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 32 ภายใต้หัวข้อ “จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว: เราจะรับมือและฟื้นตัวได้อย่างไร?”
โดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า บทบาทของมหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นแค่สถาบันที่ให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องร่วมกันหาทางออกพัฒนาประเทศ และวันนี้ เป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่ต้องร่วมกันแก้ไขให้ประเทศไทยกลับมามีสภาวะที่น่าอยู่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา
โดยอยากให้ทุกคนร่วมกันตระหนัก และเตรียมพร้อมรับมือ และฟื้นฟูจากภัยธรรมชาติอย่างยั่งยืน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมาร์แต่ประเทศไทยได้รับความแรงสั่นสะเทือนไปด้วย จุฬาฯ จะร่วมแก้ปัญหาเป็นการจัดการแผ่นดินไหวอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในทางวิทยาศาสตร์ เราสามารถประเมินพื้นที่อ่อนไหว ที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่ไม่สามารถระบุเวลา หากมีการระบุเวลาเมื่อไร แสดงความข้อมูลนั้นเป็นเท็จ ส่วนอาฟเตอร์ช็อก ที่เกิดตามมาจะเล็กกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากศูนย์กลางโดยตรง และจะค่อยๆ ลดลงทั้งในแง่ของขนาดและจำนวน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกส่วนใหญ่ จะไม่เป็นภัยต่อมนุษย์ แต่จะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ในแง่ของการเกิดสึนามิ เป็นการเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในแนวดิ่งอย่างทันทีทันใด ซึ่งของไทยฝั่งอันดามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เหมือนเมื่อปี 2447 ที่ผ่านมา ความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งนั้น เป็นเพราะเราไม่รู้จักสึนามิ
ดังนั้น เชื่อว่าหากเกิดขึ้นอีก จะสามารถเตรียมพร้อมรับมือกันได้ทันแน่นอน ส่วนสึนามิในแม่น้ำ หรือหนองบึงนั้น ไม่มีแน่นอน ที่เห็นเป็นคลื่นน้ำกระฉอกนั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว ซึ่งมีอันตรายน้อย
สำหรับ แมกนิจูด คือขนาดของเหตุการณ์ ซึ่งหมายถึงพลังงานที่ปล่อยออกมาจากจุดศูนย์กลาง เช่น แผ่นดินไหวที่เมียนมาร์ อยู่ที่7.7 ส่วนจะกระทบมาถึงไทยแค่ไหน ขึ้อยู่กับระดับความรุนแรงของแต่ละเมอร์คารี หรือระดับความรุนแรง โดยครั้งที่ผ่านมาเมอร์คารีอยู่ที่ระดับ 7-8 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ตึกถล่ม
ส่วนข้อปฏิบัติระหว่างที่เกิดแผ่นดินไหว เป็นแนวปฏิบัติทั่วไป คือ ไม่ควรอยู่ใกล้ที่สูง ริมทะเล ควรอพยพขึ้นที่สูง ส่วนในอาคาร หากมั่นใจว่าอาคารไม่ถล่ม ควรหลบใต้โต๊ะ ทั้งนี้กรณีเกิดภัยภิบัติการอพยพไม่ใช่เรื่องยาก แต่ประเด็นคือ เรามีการเตรียมความพร้อมอย่างสม่ำเสมอหรือไม่
โดยเฉพาะความตระหนักในเรื่องการซ้อมอพยพ สถานการณ์วันนี้ อาฟเตอร์ช็อกลดลงตามลำดับทั้งในแง่ปริมาณ และความรุนแรง เป็นที่น่าไว้วางใจ ดังนั้น ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอะไรที่ได้รับผลกระทบก็เรียนรู้และปรับแก้ สุดท้ายในส่วนของอาคาร ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้อาคารสร้างความปลอดภัยให้ผู้อาศัย
ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ จากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวต้องเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งที่ผ่านมา เกิดขึ้นรอยเลื่อนสะกาย ที่มีศูนย์กลางอยู่ประเทศเมียนมาร์
ทั้งนี้ รอยเลื่อนสะกาย เป็นรอยเลื่อนที่ใหญ่ ซึ่งประเทศเมียนมาร์ ระบุว่า เป็นรอยเลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในไทยอย่างแน่นอน รอยเลื่อนสะกาย มีแขนงอยู่จำนวนมาก รวมถึงรอยเลื่อนแม่ฮ่อนสอน อยู่ขนานกับรอยเลื่อนสะกาย ที่จะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวแบบโดมิโน และที่แม่ฮ่องสอน เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวไปแล้ว
สิ่งที่อยากจะบอกคือ รอยเลื่อนเป็นล่องรอยที่ปรากฎ เป็นเส้น ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 16 รอยเลื่อนมีพลัง ที่ยังคงมีศักยภาพในการก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้ในอนาคต เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผนเชิงพื้นที่และโครงสร้างเมือง ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งค่อนข้างมีปัญหา ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้รอยเลื่อน มี 4 แบบ คือ 1.รอยเลื่อนมีพลัง 16 รอยเลื่อน 2.รอยเลื่อนซ้อนเร้น(มาตอนทีเผลอ) ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา และที่จ.ศรีสะเกษ 3.รอยเลื่อนตาบอด(ไม่บอกก่อน) เคยเกิดขึ้นที่จ.พิษณุโลก เป็นภัยเงียบใต้ดินที่มองไม่เห็น และ 4.รอยเลื่อนนอกสายตา ซึ่งไม่เคยถูกระบุ ว่าเป็นจริงหรือไม่ เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งต้องทำการศึกษา
รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวว่า ไทยพยายามป้องกันบ้านเมืองให้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ผลักดันให้มีกฎกระทรวง เพื่อควบคุมการออกแบบอาคารที่มีแรงต้านจากแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2540 เริ่มจากภาคเหนือ กาญจนบุรี และปี 2550 เริ่มบังคับใช้ในพื้นที่กรุงเททฯ แต่อาจเพราะประชาชนยังไม่มีประสบการณ์จึงไม่ตระหนักถึงความน่ากลัว
โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มีการกำหนดระดับความรุนแรงที่ตึกจะต้องทนได้เอาไว้ เพราะฉะนั้น หลังปี 2550 พื้นที่กรุงเทพฯ การสร้างอาคารจะถูกบังคับด้วยกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งอาจไม่ได้ครอบคลุมทุกอาคาร เช่น บ้านประชาชน ที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้นเป็นต้น
“ความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อกรุงทพฯสูงสุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา มีผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก และมีการถล่มของอาคาร ซึ่งแนวทางการสำรวจรอยร้าวเบื้องต้น ส่วนที่น่าห่วงที่สุดคือ รอยร้ายระหว่างเสากับคาน ที่ถือเป็นส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลัก ส่วนผนังยังไม่น่ากังวลมากเท่าไร
ทั้งนี้ การตรวจสภาพอาคาร ควรให้วิศวกรดำเนินการ ทั้งนี้หากเกิดการเคลื่อนที่จนตำแหน่งของโครงสร้างบิดเบี้ยว จะลำบากในการซ่อม และอาจไม่คุ้มค่ากับการดำเนินการ ส่วนผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยในคอนโดมิเนียมนั้น ความเสียหายที่พบ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับสถาปัตยกรรม ไม่กระทบโครงสร้างหลัก
ดังนั้น อาจไม่กระทบต่อการอยู่อาศัย อย่างไรก็ตามในยุคนี้ข้อมูลข่าวสารสามารถเข้าถึงง่าย หากเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะช่วยลดความตระหนกลงได้ ที่สำคัญหากทุกคนทำตามกฎหมาย ประเทศไทยจะยังคงเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เหตุการณ์ครั้งนี้ เหมือนเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนเชื่อว่า กรุงเทพฯ มีความเสี่ยง มั่นใจว่าทุกคนจะรับรู้และปฏิบัติตามกติกา เพื่ออยู่ได้อย่างปลอดภัย” รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ กล่าว
รศ.ดร.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในส่วนของประเด็นกฎหมาย เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ต้องดูที่ต้นเหตุของความเสียหาย เช่นในกรณีนี้ เกิดจากภัยภิบัติ อันดับแรก ผู้ที่อาศัยในคอนโดมิเนียมจะต้องไปดูที่นิติบุคคล ว่า ได้มีการทำประกันภัยไว้หรือไม่ และครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน กรณีผู้อาศัยที่ทำประกันภัยกับธนาคารอยู่แล้ว ต้องไปตรวจสอบที่สัญญาการทำประกันภัยว่า ครอบคลุมในส่วนใดบ้าง กรณีเพิ่งซื้อและยังไม่เข้าอยู่
อาจต้องไปดูเรื่องการรับประกันชำรุดบกพร่อง ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมถึงภัยภิบัติทางธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นอาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ก็ต้องไปดูที่ข้อสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้าง ทั้งนี้หากเป็นโครงการที่ผู้ว่าจ้างเป็นภาครัฐ ต้องใช้สัญญามาตรฐาน ที่มีข้อหนึ่งระบุว่า ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ระหว่างการก่อสร้างก่อนส่งมอบงานงวดสุดท้าย ซึ่งหากผู้รับจ้างมีประกันก็จะเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้ รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกายของประชาชน โดยผู้เสียหายจะต้องเก็บข้อมูลหลักฐานไว้ เพื่อยืนยันและรับการคุ้มครองตามสิทธิ
ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ในเชิงกฎหมายอาญา จะต้องดูที่เจตนาการกระทำ โดยพิจารณาจากพฤติกรรมของบุคคลทั่วไป หากเป็นการนำข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะถือว่ามีความผิด ดังนั้นหากจะแชร์ข้อมูลใด ข้อให้พิจารณาให้ดี เพราะอาจก่อให้เกิดความตระหนก และภาพลักษณ์ของประเทศ