‘บิ๊กอุ้ม’ ย้ำ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ ยึดหลักธรรมาภิบาล แต่งตั้งโยกย้าย บุคลากร
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานกล่าวมอบนโยบาย การดำเนินงาน แก่คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ. )เขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต ทั่วประเทศ ตอนหนึ่งว่า เชื่อว่า อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ รวมไปถึงมีความเที่ยงตรงยุติธรรมในการใช้อำนาจหน้าที่ อยากให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ยึดหลักธรรมาภิบาลทุกครั้งในการที่จะแต่งตั้งบุคลากรทางการศึกษาเข้ามาทำหน้าที่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ปัจจุบันศธ.ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารงานบุคคล ทั้งการประเมินวิทยฐานะด้วยระบบ DPA การย้าย ข้าราชการครูผ่านระบบ Teacher Rotation System (TRS) ระบบบริหารอัตรากำลังๆ (SCS) และระบบบริหารจัดการประชุม (e-Meeting) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน ลดการใช้เอกสาร ลดการเกิดทุจริต มีความโปร่งใสเป็นธรรม ระบบเหล่านี้จะช่วยลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา
“ขอให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ คนทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเหล่านี้ และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารงานบุคคลฯ ในพื้นที่ หากมีปัญหาขัดข้องหรือข้อเสนอแนะสามารถเสนอเข้ามาที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ. ) เพื่อติดตามการดำเนินงานของ อ.ก.ค.ศ. อย่างเป็นระบบ และจะรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบอย่างสม่ำเสมอ”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ การทำผิดของเข้าราชการครู ซึ่งอยากให้มีการตัดสินด้วยความเที่ยงตรง
ที่รวดเร็ว ใช้อำนาจโดยมองที่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นอันดับแรก หากจะต้องแต่งตั้งบุคคลเข้ามารับหน้าที่ ก็ขอให้ดูประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ให้ดูคุณสมบัติว่ามีความเหมาะสมมีความเคารพต่อชาติและสถาบันหรือไม่
“ตลอดวาระ 4 ปี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ทุกคนควรจะวางแผนการดำเนินการ คัดเลือกคนที่เข้ามาทำงานให้มีความเหมาะสมตลอดวาระการทำงาน และหากมีปัญหาใดเกิดขึ้นควรจะมีการหารือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพื่อแก้ไขปัญหาและประสานขอความช่วยเหลือเข้ามาที่ศธ.ได้ทุกเมื่อ และไม่อยากให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นเพียงแค่ตรายางที่จะทำตามข้อเสนอแนะต่างๆโดยไม่พิจารณา ขณะเดียวกันอยากให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ มีการกำหนดตัวชี้วัดของการบริหารงานต่างๆ เช่น หากผู้บริหารโรงเรียนใดทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานเดิม อาจจะต้องปรับให้ไปอยู่โรงเรียนอื่นที่เหมาะสม ขณะเดียวกันหากผู้บริหารโรงเรียนสามารถบริหารจัดการจนสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้น ก็ควรได้รับการพิจารณาให้ไปดำรงตำแหน่งในโรงเรียนที่มีมาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อให้สามารถนำประสบการณ์และศักยภาพไปต่อยอดในการพัฒนาสถานศึกษาอื่น ๆ ได้ต่อไป