สอศ. แสดงความยินดีกับ 74 นักศึกษาสาขาช่างอากาศยานจาก 6 สถานศึกษาที่สำเร็จการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนอาชีวะศึกษาสมรรถนะสูง
วันนี้ 27 มีนาคม นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้มอบหมายให้ ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานและมอบโอวาทแก่นักศึกษาในงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาสาขาวิชาช่างอากาศยานที่ผ่านการผึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ ประจำปีการศึกษา 2567 จัดโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) สาขาวิชาช่างอากาศยาน ร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน ณ ห้องประชุมอินทนิล สำนักพัฒนาครูและบุคลากรอาชีวศึกษา กรุงเทพมหานคร
โดยมีนายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นางปัทมา วีระวานิช ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 6 แห่งที่เปิดสอนสาขาวิชาช่างอากาศยาน เข้าร่วม ตลอดจนผู้แทนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมพบปะพูดคุยให้ข้อคิดในการทำงานแก่นักศึกษา และประชาสัมพันธ์การรับสมัครงานของบริษัท เพื่อให้นักศึกษาสาขาวิชาช่างอากาศยานได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและปฏิบัติตนภายหลังสำเร็จการศึกษา ให้มีความพร้อมเป็นกำลังแรงงานคุณภาพที่มีสมรรถนะสูง ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ สอดคล้องกับมาตรฐานด้านการบินที่สำนักงาน การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนด
โดยในปีนี้ มีนักศึกษาระดับ ปวส. สาขาวิชาช่างอากาศยาน จากสถานศึกษา 6 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคถลาง จำนวน 26 คน วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จำนวน 8 คน วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง จำนวน 10 คน วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ จำนวน 4 คน วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี จำนวน 11 คน และวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น จำนวน 15 คน รวม 74 คน เข้าร่วมในงานปัจฉิมนิเทศ ซึ่งนักศึกษาดังกล่าวทั้งหมดได้ผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2568 รวม 600 ชม. (ฝึกที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 560 ชั่วโมง และ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 40 ชั่วโมง) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง สร้างและสะสมประสบการณ์ในงานซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนประกอบอาชีพช่างอากาศยานในสถานประกอบการอุตสาหกรรมการบิน
ทั้งนี้ เบื้องต้น นักศึกษาของทั้ง 6 สถานศึกษาก่อนสําเร็จการศึกษาได้ผ่านการสัมภาษณ์เพื่อเข้าทํางานกับสายบินแล้วถึง 49 คน ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) จํานวน 17 คน และบริษัทการบินไทยจํากัด (มหาชน) จํานวน 32 คน ส่วนนักศึกษาที่เหลืออยู่ในระหว่างการตอบรับเข้าทำงาน ไปประกอบธุรกิจส่วนตัว และไปศึกษาต่อ