สพฐ. -กฟผ. จัดวิศวกรเช็กอาคาร 60 ร.ร ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว

สพฐ.-กฟผ. จัดวิศวกรและช่างอาสา ตรวจสอบอาคาร 60 ร.ร.ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ซ้อมแผนเผชิญเหตุ เตรียมพร้อมสอบม.1/ม.4 พรุ่งนี้

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมปล่อยขบวนคาราวานวิศวกรและช่างอาสา กฟผ. กว่า 20 คัน เข้าพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารของโรงเรียนภายใต้สังกัด สพฐ. ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมกระจายทีมลงพื้นที่ตรวจสอบ 6 จังหวัด ระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2568 โดยมีนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ในฐานะประธานมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ร่วมเป็นประธานฯ พร้อมด้วย นางวรางคณา ไชยเรือน ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. และคณะผู้บริหาร ร่วมปล่อยขบวนรถจิตอาสาจากสำนักงานใหญ่ กฟผ. จังหวัดนนทบุรี

นายธีร์ กล่าวว่า จากการประเมินทั่วประเทศมีประมาณเกือบ 3,000 โรงเรียน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา โดยกิจกรรมวันนี้เป็นความร่วมมือกันของ กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ได้มีการหารือร่วมกับ สพฐ. เพื่อสำรวจโรงเรียนกลุ่มที่สถานการณ์หนัก และปานกลาง ประมาณ 60 โรงเรียน ซึ่งพล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำชับให้ติดตามและเป็นห่วงมาก โดยส่วนหนึ่งเราได้พยายามประเมินตามแนวทางกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว แต่ด้วยความที่ประสบการณ์และจำนวนคนไม่เพียงพอ ก็ได้ความอนุเคราะห์จากทาง กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ในการร่วมมือกันเบื้องต้นก่อน ซึ่งวันนี้ก็จะเป็นการประเมินโดยผู้มีประสบการณ์สูง ซึ่งแต่ละคนเป็นวิศวกรที่มีใบอนุญาตและดูแลงานโครงสร้างเป็น ซึ่งจะช่วยให้เรามั่นใจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สพฐ. มีความห่วงใยเรื่องดังกล่าว และมีข้อสั่งการให้ปรับแผนเผชิญเหตุและซักซ้อมแผนฯ ในวันนี้ก่อนสำหรับทุกโรงเรียนที่จะจัดการสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5-6 เมษายน 2568 นี้

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ (ผู้ว่าการ กฟผ.) ในฐานะประธานมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา เผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนในหลายพื้นที่ของไทยได้รับความเสียหาย รวมทั้งโรงเรียนภายใต้ สังกัด สพฐ. ซึ่งเป็นช่วงการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 หากจัดการสอบล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและผู้ปกครอง กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา จึงได้จัดทีมวิศวกรและช่างอาสากว่า 200 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างและประเมินความเสียหายอาคารเรียนในสังกัด สพฐ. กว่า 60 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2568 เพื่อทำการฟื้นฟูอาคารต่อไป โดยแบ่งระดับความเสียหายของอาคารเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ไม่เสียหายหรือเสียหายเล็กน้อย ระดับ 2 เสียหายปานกลาง สามารถใช้งานอาคารได้บางส่วนหรือทั้งหมด และระดับ 3 เสียหายรุนแรง อาคารอาจพังถล่มได้ สำหรับทีมวิศวกรและช่างอาสาที่จะเข้าตรวจสอบอาคารโรงเรียนสังกัด สพฐ. ใช้วิธีการตรวจสอบแบบพินิจทางกายภาพ (Visual Inspection) และเครื่องมือตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ร่วมกับการ Checklist ตามจุดต่าง ๆ ของอาคาร เช่น เสา คาน ผิวผนังทั้งภายใน-ภายนอก กระจก ลิฟต์ สายไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า ฯลฯ

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ได้รับความเสียหายและต้องได้รับการตรวจสอบโครงสร้างอาคารในเบื้องต้น ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ, จังหวัดนนทบุรี อาทิ โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี โรงเรียนวัดลากค้อน, จังหวัดปทุมธานี อาทิ โรงเรียนลำสนุ่น โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม, จังหวัดสมุทรปราการ อาทิ โรงเรียนวิสุทธิกษัตรี โรงเรียนคลองมหาวงก์, จังหวัดสมุทรสาคร อาทิ โรงเรียนวัดบ้านไร่ โรงเรียนวัดธรรมเจดีย์ศรีพิพัฒน์ และจังหวัดนครปฐม อาทิ โรงเรียนวัดห้วยตะโก โรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์ เป็นต้น

ที่ผ่านมา กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ได้จัดอบรมแนวทางการตรวจสอบอาคาร หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ให้กับทีมวิศวกรและช่างอาสา เตรียมพร้อมก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เพื่อให้มีความเข้าใจ และสามารถตรวจสอบสภาพอาคารได้อย่างถูกต้อง

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image