สมพงษ์ กาง 4 ข้อน่าห่วงสถานการณ์ครอบครัวไทย จี้รัฐหันมาดูแล-ให้ความสำคัญ

สมพงษ์ กาง 4 ข้อน่าห่วงสถานการณ์ครอบครัวไทย จี้รัฐหันมาดูแล-ให้ความสำคัญ

เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า จากที่ตนทำงานด้านเด็กและครอบครัวร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบข้อมูลสำคัญ คือ ครอบครัวไทยง่อนแง่น ไม่สมบูรณ์ ไร้การศึกษา และมีการส่งต่อความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งเกิดอย่างเป็นระบบ และถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร หรือไม่เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว อาจจะทำให้ประเทศถอยหลัง และอยู่กับที่เป็น 10 ปี

สถานการณ์ครอบครัวไทยไม่สู้ดี มีดังนี้

1.ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ห่างมากขึ้น คนยากจนล่างสุดร้อยละ 10 ซึ่งมีประมาณ 2.18 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ย 2,044 บาท ขณะที่ครอบครัวที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ มีร้อยละ 10 เช่นกัน ซึ่งมีประมาณ 5 แสนคน มีรายได้เฉลี่ย 32,997 บาท ช่วงว่างความเหลื่อมล้ำห่างกัน 16 เท่า ทำให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยากจน

ADVERTISMENT

2.ผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน และส่งต่อความยากจนนั้น เกิดจากพื้นฐานการศึกษาไม่สู้ดี เป็นผู้ปกครองที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 60.45%

3.ครอบครัววัยใสเกิดขึ้นในสังคมไทย 10% ไม่มีลด และยังมีแนวโน้มส่งต่อครอบครัววัยรุ่น

ADVERTISMENT

4.ครอบครัวสังคมไทยมีสภาพเปราะบาง หย่าร้างแยกกันอยู่ 42.35% , มีเด็ก 1 ใน 3 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ , มีผู้สูงอายุอยู่ร่วมกัน 44.43% และมีคนว่างงาน 27.3% , พิการ 12.44% ดังนั้นไม่ใช่แค่สภาพเศรษฐกิจ และการศึกษาเท่านั้น

นายสมพงษ์ กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้ เป็นสงกรานต์ที่ค่อนข้างดุเดือด เพราะมีสภาพความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้สภาพครอบครัวไทยจะยิ่งนักขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่การเกษตรแย่ หรือแม้แต่ในห้างใหญ่ๆ ยังเห็นการปิดร้านค้า การค้าขายไม่สู้ดี ประกอบกับปัญหากำแพงภาษีจากสหรัฐ เรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อการตัดสินใจของครอบครัว เมื่อกลับบ้านช่วงสงกรานต์ อาจจะพบว่าสภาพรอบตัวแล้งแค้น ทำให้การตัดสินใจเอาเด็กออกจากระบบการศึกษาจะง่ายขึ้น ขณะนี้มีเด็กออกจากระบบการศึกษา 982,304 คน ลดจากปีที่แล้วประมาณ 1 แสนคนเท่านั้น แม้จะมีโครงการ Thailand Zero Dropout แต่เราต้องพยายามที่จะทำให้สงกรานต์ปีนี้ เปลี่ยนชุดความคิดของผู้ปกครองว่า กลับบ้านพาลูกกลับมาเรียน

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ การศึกษาไม่ตอบโจทย์การมีรายได้ และการมีงานทำของเด็ก พ่อแม่มักจะอ้างเรียนไปเท่านั้น เดี๋ยวก็ออกมาทำงาน ซึ่งกลายเป็นการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นอย่างเป็นระบบ ในขณะนี้ กสศ.และสสส. ให้ความสำคัญเรื่องครอบครัว และการไม่ตัดสินใจพาลูกหลานออกจากระบบ แต่จะปรับระบบการศึกษาอย่างไร ที่จะให้เด็กเรียนไปด้วย ทำงานเพื่อมีรายได้ด้วย ขณะนี้ระบบการศึกษาเริ่มคลายตัวจากระบบการแข่งขันและมาตรฐานต่างๆแล้ว มีความยืดหยุ่นขึ้น มีระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ที่มีทุกจังหวัดแล้ว และยังมีความก้าวหน้าไปอีกขั้นคือ ถ้าเด็กไปโรงเรียนไม่ได้ ก็ให้การศึกษาไปหา หรือ “โรงเรียนเคลื่อนที่” ถือเป็นนวัตกรรมทำช่วยเด็กได้ทำงานและเรียนไปด้วย ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อปากท้อง ให้เด็กมีอาชีพ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา

นายสมพง๋ กล่าวต่อว่า ดังนั้นอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเอาลูกหลานตนเองออกจากระบบการศึกษา เพราะขณะนี้มีข้อมูลใหม่ ระบบการศึกษาเอื้อให้คนยากจน ชาวบ้าน เข้าถึงการศึกษามากขึ้น สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้น การปรึกษากันในครอบครัว และการให้ข้อมูลใหม่ ว่า ระบบการศึกษายืดหยุ่น เปลี่บยแปลงไปแล้ว ซึ่งโรงเรียนเคลื่อนที่จะพัฒนาตนเองไปกับจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงที่เด็กหลุดจากระบบ เช่น แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ บึงกาฬ และ นราธิวาส เป็นต้น ช่วยให้เด็กมีวุฒิการศึกษาได้

” ดังนั้นสงกรานต์ปีนี้ น่าจะเป็นสงกรานต์ที่ครอบครัวกลับไป ให้ข้อมูลใหม่ ให้ชุดความรู้ใหม่ และให้โอกาสลูกหลานได้เรียนหนังสือ ให้เขามีวุฒิการศึกษา ซึ่งเขาจะตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้ และให้อนาคตที่มั่นคง ให้เขาได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้น สูงขึ้น เขาจะมีรายได้ที่ดีกว่าครอบครัว อาจจะกลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน ตนมองว่าการขยับตัวขององค์ต่างๆ เล็งเห็นปัญหามายาวนานและได้ทำการรณรงค์ด้วย จึงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศโดยรัฐ ต้องตระหนักถึงความสำคัญของระบบครอบครัวที่สมบูรณ์ มีเศรษฐกิจ มีรายได้ และยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้น ทั้งนี้เห็นว่ามีแผนต่างๆ เช่น แผนพัฒนาเด็กและเยาวชน แผนการศึกษาต่างๆ แต่ผมยังไม่เคยเห็นแผนที่เกี่ยวกับระบบครอบครัวเลย รัฐควรหันกลับมาดูแลระบบครอบครัว เราจะปล่อยให้เด็กเกิดน้อยและยังด้อยคุณภาพอีกหรือ” นายสมพงษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image