เปิดประสบการณ์ขั้วโลกใต้! เสว่หลง 2 เทียบท่าเรือสัตหีบ เยาวชน-นักวิจัยไทยร่วมแลกเปลี่ยนความรู้

เปิดประสบการณ์ขั้วโลกใต้! เสว่หลง 2 เทียบท่าเรือสัตหีบ เยาวชน-นักวิจัยไทยร่วมแลกเปลี่ยนความรู้

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พล.ร.ต.ธำรง สุพรรณพงศ์ ผอ.กทส.ฐท.สส. เป็นผู้แทน ฐานทัพเรือสัตหีบพร้อมด้วย ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ให้การต้อนรับ นายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่หลง 2 (Mr.XIAO ZHIMIN, Captain) และคณะลูกเรือ เนื่องในโอกาสเข้าเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา 2 เมษายน 2568 และเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ปี พ.ศ. 2568 พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมเรือสำรวจขั้วโลกเสว่หลง 2 (Xue Long 2) ซึ่งได้จอดเทียบท่าที่ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 19 – 23 พ.ค. 2568

ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การมาเยือนของเรือเสว่หลง 2 ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2568 และยังเป็นการเฉลิมฉลองวาระสำคัญของการครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน การมาเยือนประเทศไทยของเรือเสว่หลง 2 ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยไทย รวมถึงเยาวชนและประชาชนชาวไทย จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์โดยตรงกับทีมวิจัยระดับแนวหน้าของจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสำรวจขั้วโลก

“เรือเสว่หลง2เดินทางจากแอนตาร์กติกและกลับไปยังเซี่ยงไฮ้ จึงได้มีการประสานขอความร่วมมือในการให้เข้ามาที่ประเทศไทยโดยเข้าเทียบท่าที่ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 19-23 พฤษภาคม โดยในวันที่ 20 พฤษภาคมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเดินทางมาเยี่ยมชมเรือที่ท่าเรือแห่งนี้“ดร. ไพรัช กล่าว

ADVERTISMENT

ดร. ไพรัช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษที่จะจัดขึ้นควบคู่กับการมาเยือนของเรือเสว่หลง 2 ได้แก่ การจัดนิทรรศการ “Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region” ระหว่างวันที่ 14 – 25 พฤษภาคม 2568 ที่ Crystal Court ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และการเสวนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ผู้มีประสบการณ์เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ด้วยเรือเสว่หลง 2 กับเยาวชนไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชนของนักวิทยาศาสตร์ไทยและจีนที่เคยเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ด้วยเรือเสว่หลง 2 และการประชุมวิชาการ “Thailand-China Polar Science Conference”, และพิธีอำลาเรือเสว่หลง 2 โดยในระหว่างที่เรือจอดเทียบท่าเรือจุกเสม็ด จะมีการนำคณะลูกเรือเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเยี่ยมชมความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย ที่ สวนนงนุช พัทยา

“ประเทศไทยได้ทำงานร่วมกับประเทศจีนในการสำรวจโลกมากว่า 20 ปี เนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จไปเชื่อมสัมพันธไมตรี ซึ่งทางประเทศจีนก็ยินดีที่จะส่งนักสำรวจชาวไทยไปร่วมสำรวจด้วยปีละ 2 คน โดยส่งไปทั้งหมดแล้ว 17 คน ซึ่งขั้วโลกใต้เป็นพื้นที่ที่ยังบริสุทธิ์การสำรวจพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้ได้รู้การเปลี่ยนแปลงของโลกในอดีตมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก“ดร. ไพรัช กล่าว

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า การที่เรือเสว่หลง2เดินทางมาเยือนประเทศไทยถือเป็นโอกาสในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนไทย ที่ได้เห็นว่ามีนักวิจัยไทยที่มีความสามารถในระดับนานาชาติได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยระดับโลก เป็นการแสดงศักยภาพของนักวิจัยไทย และการที่ทางเรือได้เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เข้าไปเยี่ยมชมตัวเรือก็ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจเป็นอย่างมาก เพราะ จะได้เห็นเทคโนโลยีเครื่องมือการเดินเรือที่ทันสมัยที่จะทำให้ผู้รับชมตื่นเต้นเมื่อได้รับชม

“การมาเยือนครั้งนี้ไม่ได้เป็นการถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เป็นส่วนหนึ่งที่เรือเสว่หลง2จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้รับชมได้“ผศ.ดร.รวิน กล่าว

ดร.อุดมศักดิ์ ดรุมาศ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และนักวิจัยไทยผู้ร่วมเดินทางกับเรือ เสว่หลง2 กล่าวว่า ในส่วนของการวิจัยที่ตนได้รับผิดชอบคือการไปศึกษาติดตามสภาพแวดล้อม รวมไปถึงตรวจหา ไมโครพลาสติก ที่เป็นสิ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมบริเวณขั้วโลกใต้ ยังบริสุทธิ์หรือไม่ ทั้งนี้ยังมีการสำรวจของ ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ที่ได้ไปสำรวจสิ่งมีชีวิตบริเวณขั้วโลกใต้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรตามภาวะโลกร้อน

“ในเรื่องการวิจัยผมตื่นเต้นอย่างมากที่ได้ไปเข้าร่วมการเดินทางครั้งนี้เนื่องจากผมอยู่แต่ในพื้นที่เขตร้อนมาโดยตลอด การเดินทางครั้งนี้จึงถือเป็นการเปิดประสบการณ์ครั้งใหม่ของผม และการเดินทางครั้งนี้ทำให้ผมพบกับอากาศที่หนาวอย่างไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งสร้างความท้าทายในการทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน นอกจากนี้เรือเสว่หลงยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดอาการเอียงของเรือแต่เรือก็ยังมีอาการเอียงมากถึง30องศา ทำให้การเดินบนเรือมีความท้าทายเสมือนการเดินขึ้นภูเขา”ดร.อุดมศักดิ์ กล่าว

ดร.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้บนเรือดังกล่าวมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่ช่วยทำให้นักวิจัยทำงานได้อย่างราบรื่น รวมไปถึงมีการจัดเตรียมอาหารที่มีรสชาติที่ดีและถูกสุขลักษณะอนามัยให้กับนักวิจัยและลูกเรือทุกคน

นายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่หลง 2 (Mr.XIAO ZHIMIN, Captain) กล่าวว่า เรือเสว่หลง 2 เป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีน และถือเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำแรกของจีนที่สร้างขึ้นเองทั้งหมดภายในประเทศ เป็นเรือตัดน้ำแข็งขนาดกลางที่มีความทันสมัยและมีสมรรถนะสูงที่สุดลำหนึ่งของโลก ด้วยเทคโนโลยีการตัดน้ำแข็ง 2 ทิศทาง ทำให้สามารถตัดน้ำแข็งหนา 1.5 เมตรพร้อมเดินทางด้วยความเร็ว 2-3 น็อต ทำให้เดินทางผ่านแผ่นน้ำแข็งได้หลายทิศทางอย่างคล่องตัวหัวเรือส่วนใต้น้ำถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้มีความแข็งแรง สามารถชนและไต่ขึ้นบนแผ่นน้ำแข็ง พร้อมแรงกดที่ช่วยแยกน้ำแข็งเพื่อให้เรือสามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้

“เรือเสว่หลง 2 มีความยาว 122.5 เมตร ความกว้าง 22.3 เมตร กินน้ำลึก 12 เมตร และมีระวางขับน้ำ 13,990 ตัน สามารถรองรับลูกเรือได้ 40 นาย และนักวิจัยได้อีก 50 นาย รวมทั้งสิ้น 90 ชีวิต ภารกิจหลักของเสว่หลง 2 คือการสนับสนุนการสำรวจวิจัยขั้วโลกในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ธารน้ำแข็งวิทยา วิทยาศาสตร์ทางทะเล วิทยาศาสตร์บรรยากาศ ธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ นิเวศวิทยาและชีววิทยา รวมถึงการศึกษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในแผนงานระยะสั้นและระยะยาว”นายเสียว กล่าว

นายเสียว กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เรือยังมีบทบาทสำคัญในการรับส่งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งเสบียง อาหาร เชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับสถานีวิจัยของจีนทั้งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยจีนมีสถานีวิจัยหลายแห่งทั้งที่ขั้วโลกใต้ ได้แก่ สถานี Great Wall (1985), Zhongshan (1989), Kunlun (2009), Taishan Camp (2014) และสถานีล่าสุด Qinling (2024) และที่ขั้วโลกเหนือคือสถานี Yellow River (2004) ซึ่งเสว่หลง 2 มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถานีเหล่านี้

“เสว่หลง 2 ได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือสำรวจอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดลำหนึ่งของโลกด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดหลายชนิด ครอบคลุมการสำรวจที่หลากหลาย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยสำหรับการประมวลผลข้อมูลทั้งด้านปฏิบัติการและการวิจัย นอกจากนี้ เรือยังถูกออกแบบมาพร้อมเทคโนโลยีสะอาด SCR (Selective Catalytic  Reduction) เพื่อลดการปล่อยมลพิษในเขตขั้วโลก ที่อยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป”นายเสียว กล่าว