กวีหญิงรวมตัวหน้า ‘หอศิลป์’ ค้านใช้พื้นที่ทำธุรกิจ อดีตนายก ส.นักเขียน-ศิลปินแห่งชาติร่วมด้วย

วันที่ 16 มิถุนายน เวลา 16.45 น. บริเวณด้านหน้าทางเข้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เครือข่ายศิลปินและนักกวีนับสิบคน นำโดย’แม่น้ำเรลลี่’ศิลปินหญิงจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในหัวข้อ”ผู้หญิงเขียนกวี”

กวีหญิง นามปากกา ‘แม่น้ำเรลลี่’ กล่าวว่า หอศิลป์คือเวทีสาธารณะ เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยทุกชนชั้นที่สนใจในศิลปะมาชื่นชม การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ อยากให้เห็นศักยภาพของผู้หญิงในโลกสมัยใหม่ที่สามารถใช้พลังของศิลปะขับเคลื่อนสังคมได้

“เราอยากแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรม เราไม่ต้องการให้มีความพยายามใดๆที่จะนำพื้นที่หอศิลป์ไปใช้ในทางธุรกิจ” แม่น้ำเรลลี่ระบุถึงจุดประสงค์การจัดกิจกรรมนี้

โดยบทกวีของ’แม่น้ำเรลลี่’ มีดังนี้

Advertisement

“แล้วเม็ดฝนก็หล่นอยู่ตรงหน้า
บอกเราว่าฤดูกาลผ่านมาใหม่
ม่านหมอกขาวพราวหยดน้ำไหลลามใจ
ดุจน้ำตาฟ้าหลั่งให้ใครบางคน
.
ยืนโดดเด่นเป็นสง่าอย่างท้าทาย
คือสหาย ณ หอศิลป์ยามสับสน
โอ้ ศิลปิน ศิลปะ ประชาชน
จะถึงคราวปี้ป่น หรืออย่างไร
.
จึงอำนาจวาสนามาย่ำยี
ลดศักด์ศรีมนุษย์เสรีที่ยิ่งใหญ่
เหลือเพียงคนไร้รากจากต้นใบ
เป็นวัตถุไร้ใจในจักรวาล
.
จิตสำนึกผลึกศักดินาเข้าครอบงำ
ผลิตซ้ำเพียงเรื่องเก่าเหมือนเล่าขาน
ประชาชนต้องทานทนดั่งวัวงาน
ไม่มีสิทธิ์เบิกบานลานอารยธรรม

.
ศิลปะจะเสพไปทำไมเล่า
เมื่อชาติเรามีแต่คนชนชั้นต่ำ
แค่ไก่กาปวงประชาตาดำๆ
ศิลปะเลิศล้ำไม่เข้าใจ
.
ปฏิญญาหอศิลป์ลืมเสียเถิด
จะประเสริฐถ้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่
ศูนย์การค้าผ่านตาผู้มาไป
เป็นเครื่องหมายศิวิไลซ์ของเมืองกรุง
.
ม่านเม็ดฝนหล่นลงตรงหอศิลป์
นกศิลปินยังโบยบินผ่านตึกสูง
บทกวีและดนตรียังเฟื่องฟุ้งเหนือโค้งรุ้งขอบฟ้ามหานคร”

นอกจากนี้ ยังมีศิลปินอื่นๆมาร่วมขับบทกวี รวมถึงยังมีการแสดงดนตรีสดอีกด้วยโดยมีกวีหญิงกว่า 10 รายเข้าร่วม อาทิ ดวงจันทร์ สีหยก, เพลงแพรวา, ลลิตา แก้วนา, ศิปางค์, ไม้ขีดอักษรา, วิปัสนา ในจันทร์ เป็นต้น นอกจากนี้ นางชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2557 ได้เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย

Advertisement

ด้าน ‘สมพงษ์ ทวี’ กวีและศิลปินชื่อดัง กล่าวว่า กิจกรรมนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างแรงขับให้สังคมรับรู้ว่าหอศิลป์มีความหมายต่อประชาชน เพื่อใช้เป็นพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกและรับชมศิลปะทุกแขนงโดยไม่หวังผลกำไรและเป็นการส่งมอบสิ่งดีๆให้กับสังคม สำหรับการที่กทม.จะยึดคืนหอศิลป์ฯ ว่า เป็นสิทธิที่กทม.จะเรียกร้องได้ แต่ปัญหาคือ กทม.ไม่เคยบริหารเอง เคยได้ปรึกษากับคณะกรรมการของหอศิลป์ฯหรือไม่ ว่าเขาบริหารกันอย่างไร

“ผมคิดว่า ใครมาบริหารหอศิลป์ต่อก็ได้แต่ต้องไม่มีนัยยะแอบแฝงใดๆ และต้องเกิดประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน ผมและเครือข่ายศิลปินต่างมีความเห็นตรงกันว่าหอศิลป์ฯไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง” นายสมพงษ์ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “Bangkok Opensource Performance พื้นที่เสรีศาสตร์” เป็นการแสดงหลายแขนงที่ไม่มีการซ้อมมาก่อน โดยมีตัวศิลปินเป็นวัตถุทางศิลปะซึ่งมีความต่างไปจากการแสดงละครโดยทั่วไป และจัดแสดงอย่างต่อเนื่องทุกวันเสาร์-อาทิตย์อีก 3 เดือน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image