เหยี่ยวถลาลม : ทหารการเมือง

ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย กลุ่มนายทหารที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง และมีความคันจนถึงขั้น “กล้าก่อการเปลี่ยนแปลง” ครั้งแรกในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นคือ “คณะ ร.ศ.130” เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เช้าวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2454 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก ประชานาถ เป็นผู้บัญชาการจับกุม “กบฏ ร.ศ.130”

คณะผู้ก่อการมี นายร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) นายร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์ นายร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง นายร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ นายร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์ นายร้อยตรี เขียน อุทัยกุล นายร้อย ตรี วาส วาสนา นายพันตรี หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช) นายร้อยตรี เปลี่ยน ไชยมังคละ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวมกับสมัครพรรคพวกทั้งสิ้นกว่า 100 ชีวิต

ร้อยละ 90 เป็นทหาร

Advertisement

และร้อยละ 80 เป็น “ทหารหนุ่ม” ที่มีอายุระหว่าง 20-25 ปี

ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้ากบฏนั้นเป็น “แพทย์ประจำพระองค์” สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเป็น “ผู้บัญชาการ” ปราบกบฏ

ไม่เพียงแต่เท่านั้น หากการก่อกบฏครั้งนี้สำเร็จ “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ” ยังเป็น 1 ใน 2 พระองค์ ที่ถูกกลุ่มผู้ก่อการเตรียมเสนอให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ภายใต้การปกครองระบอบใหม่

Advertisement

“กบฏ ร.ศ.130” นับเป็นการปฏิวัติใหญ่ครั้งที่ 1 ที่บุกเบิกทางให้กับอุดมการณ์ประชาธิปไตย

หลังจากนั้นอีก 20 ปี ถึงจะมีการปฏิวัติครั้งที่ 2

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 “คณะราษฎร” จึงเชิญอดีตแกนนำ “กบฏ ร.ศ.130” เข้าพบที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

ทันทีที่พบหน้ากัน พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎร ฝ่ายทหาร ได้กล่าววาทะอันลือลั่นแก่แกนนำปฏิวัติ ร.ศ.130 ว่า

“ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม”

ขณะที่ “ปรีดี พนมยงค์” หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้นำคณะราษฎร ฝ่ายพลเรือน กล่าวว่า “การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ.130”

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกบทบาทของ “ทหาร” กับ “การเมือง” มาตั้งแต่ พ.ศ.2454 (ร.ศ.130) ซึ่ง “หมอเหล็ง” ได้อ้างอิงประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างการพัฒนา

สะท้อนให้เห็นว่า ทหารยุคนั้นก่อการด้วยอุดมการณ์มากกว่าผลประโยชน์ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image