สัตวแพทย์เตือนใช้ช้างเล่นน้ำสงกรานต์ระวังเครียด แนะให้สนุกอยู่ในปาง-เฉพาะช่วงเช้า ‘หนูนา’ติง’เพนต์สี’ไม่เหมาะอย่าเอาแต่เงิน

เมื่อวันที่ 10 เมษายน นายสัตวแพทย์ (นสพ.) วรุตม์ วงศ์กาฬสินธุ์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีปางช้างที่ใช้ช้างเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือบริการให้นักท่องเที่ยวนั่งหลังชมเมือง แนะนำว่าให้จัดเฉพาะในพื้นที่ปางช้างที่ควบคุมได้ โดยไม่ควรนำช้างออกมาข้างนอกในสถานที่ที่ช้างไม่คุ้นเคย เพราะปางช้างเข้าใจพฤติกรรมช้างดีกว่าคนภายนอก เช่น กรณีการเปิดให้ช้างอายุระหว่าง 10-15 ปี ได้ทำกิจกรรมทั้งเล่นน้ำ ร่วมวาดรูป เต้น และต้อนรับนักท่องเที่ยวก็ควรจะมีการจัดช่วงเช้า 06.00- 08.00 น. ส่วนในภาคบ่ายควรหลีกเลี่ยงการนำช้างออกมาเล่นน้ำ โดยที่เชียงใหม่ปางช้างส่วนใหญ่จะนำช้างมาพบปะกับนักท่องเที่ยวถึงแค่เวลา 07.00 น.เท่านั้น ที่สำคัญควรมีการจัดพื้นที่ร่มเงาให้ช้างได้พักผ่อน มีถังน้ำไว้ดูแลช้าง เพราะอากาศช่วงนี้ร้อนมากซึ่งความร้อนก็อาจส่งผลให้สัตว์เครียดได้เช่นเดียวกับคน แม้ไม่มีงานวิจัยชี้ชัดว่าช้างเครียดจากความร้อนก็ตาม แต่ปางช้างควรหาทางป้องกันไว้ก่อน ที่สำคัญก่อนนำช้างออกมาบริการต้องตรวจสุขภาพช้างให้ดี หากช้างป่วยไม่ควรนำออกมา เพราะอาจจะอันตรายต่อสุขภาพช้างและเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวด้วย ปางช้างจึงควรให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามกฎของปางช้างอย่างเคร่งครัด

“ส่วนมากช้างที่บริการนักท่องเที่ยวจะมีทั้งรุ่นเด็กๆ 10-15 ขวบ มาเล่นน้ำอาจได้ ให้สัมผัส ให้ถ่ายรูปได้ ถ้าเขาไม่ป่วย เพราะบางครั้งช้างมาใช้งวงพ่นน้ำเหมือนคนสั่งขี้มูกเล่น ถ้าเขามีเชื้ออยู่ เชื้อจะแพร่สู่นักท่องเที่ยว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจในช้าง อีกประเด็นคือถ้าช้างไม่มีเชื้อ แต่น้ำไม่สะอาด น้ำมีเชื้อ หรือน้ำผสมสารเคมี ช้างก็อาจได้รับผลกระทบตรงนั้น คือมันเสี่ยงทั้งสองฝ่าย แม้นักท่องเที่ยวบางคนบอกไม่แคร์ ไม่ถือก็ตาม แต่ถ้าเกิดผลกระทบตามมาก็หาคนรับผิดชอบยาก ดังนั้นนักท่องเที่ยวต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย” นายสัตวแพทย์วรุตม์ กล่าว

นสพ.วรุตม์กล่าวว่า กรณีเป็นช้างอายุเลย 30 ปีขึ้นไป ปางช้างส่วนมากก็นำช้างมาบริการให้คนนั่งหลัง ส่วนนี้ก็ต้องทำในช่วงเช้าเช่นกันเพื่อให้ช้างได้มีเวลาผ่อนคลาย ทั้งนี้ช้างทั้งสองช่วงวัยหรือถ้าปางช้างใดอยากนำช้างมาเล่นน้ำข้างนอก อันนี้ไม่ได้บอกว่าผิด แต่แนะนำว่าไม่ควร โดยเฉพาะช้างวัยรุ่นที่ไม่เคยได้ยินเสียงเพลง เสียงแตรรถในปางช้าง เมื่อเขามาเจอคนข้างนอกเขาอาจจะตกใจอาจจะเผลอไปทำร้ายนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งไม่มีใครกล้ารับประกัน นักท่องเที่ยวเองจึงควรเล่นกับเขาอย่างมีขอบเขต และถ้าอยากสัมผัสเขาแบบปลอดภัยเข้าไปที่ปางดีกว่า นอกจากช้าง 2 รุ่นที่ว่าแล้ว ยังมีช้างอีกรุ่นที่อาจเป็นวัยผสมพันธุ์และมีลูกคือราวๆ 20 ปี ถ้ารุ่นนี้เป็นแม่ลูกอ่อนที่ลูกยังอายุไม่ถึง 2 ขวบ ไม่ควรมีการนำช้างทั้งคู่ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยว หรือนำมาเล่นน้ำเพราะจะเป็นอันตรายทั้งสองฝ่าย

น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมักมีการน้ำช้างมาแต่งตัวด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น แพนด้า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อดึงดูดประชาชนให้กับปางช้างและสร้างความบันเทิงให้กับประชาชนว่า การใช้ช้างทำมาหากินเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ควรต้องคำนึงถึงสุขภาพและสวัสดิการของช้างด้วย โดยเฉพาะในปีนี้อากาศร้อนมาก แม้กระทั่งคนยังแทบทนไม่ไหว ดังนั้นการจะนำช้างไปยืนกลางแดดเวลานานๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

Advertisement

น.ส.กัญจนากล่าวว่า กรณีที่มีการทาสีช้างให้เป็นรูปต่างๆ หรือเหมือนสัตว์อื่นๆ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะแม้ผิวหนังของช้างจะหนาแต่ช้างก็รู้สึกทรมานโดยเฉพาะบริเวณรอบๆ ตาที่ค่อยข้างละเอียดอ่อน และสีเหล่านี้คือสารเคมี

“การเพนต์สีช้างให้เป็นแพนด้ายิ่งไม่เหมาะสม เพราะช้างก็คือช้าง เขามีความสง่างามอยู่ในตัวแล้ว ช้างเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเมืองเรา แต่แพนด้าเป็นสัญลักษณ์ของจีน สัตว์ทั้ง 2 ชนิดต่างมีความสวยงามอยู่ในตัวเอง เราควรให้คุณค่าของเขาตามที่เขาเป็น อย่าคิดเพียงเอาแต่เงินเท่านั้น” น.ส.กัญจนากล่าว

อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษากล่าวด้วยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น แม้จะมีการนำช้างมาสาดน้ำเพื่อสร้างความสนุกสนาน แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้เขายืนตากแดดหรืออยู่ในที่แจ้งเป็นเวลานานเกินไป ควรให้ช้างได้อยู่ในร่มไม้ หรือเล่นน้ำกันอยู่ในลำห้วยหรือแหล่งน้ำ หรือถ้าไม่มีจริงๆ ก็ควรใช้สายยางฉีดบ่อยๆ เพื่อให้ช้างได้คลายร้อนด้วย

Advertisement

น.ส.กัญจนากล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายป้องการการทารุณกรรมสัตว์ออกมาแล้ว แต่ในส่วนของช้างยังไม่มีการออกกฎหมายลูก ทำให้การดูแลปกป้องช้างยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เช่น คำว่าทารุณกรรมช้าง ก็ต้องตีความกันมากมาย ทั้งๆ ที่ตอนเขียนกฎหมายคุยกันว่าแค่นำช้างพิการมาใช้งานก็ทำไม่ได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image