รองอธิบดีกรมชลฯลงพื้นที่ตามงาน ‘พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก’ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

รองอธิบดีกรมชลฯ เผยเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่รับรองเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก หวังแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ด้านชาวบ้านพอใจหากการสร้างอ่างจะทำให้มีน้ำใช้ทั้งปี หากผ่านครม.เห็นชอบแล้ว คาดจะสร้างเสร็จ ภายใน 5 ปี

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่เขื่อนทดน้ำโกกโก่ จ.ตาก นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ ลงพื้นที่ติดตามโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก เนื่องจากกรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท วายพี คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท พีซีบีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ไทยเอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด และบริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์ จำกัด ในการดำเนินการ

นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า กรมชลประทานต้องศึกษาเพื่อแก้ไขพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของ จ.ตาก ประกอบด้วย 3 อำเภอ คือ อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด และอำเภอพบพระ ซึ่งเขื่อนทดน้ำโกกโก่สร้างขึ้นเมื่อปี 2552 พื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 16,000 ไร่ ทำไปแล้วประมาณ 11,000 ไร่ ขณะนี้เรากำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนการแก้ปัญหาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ประกาศไว้ในปี 2558 ว่าจะเน้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และการแปรรูปด้านการเกษตร โดยการเกษตรในพื้นที่เขตเศรฐกิจพิเศษตากมีความหลากหลาย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด มะละกอ

นายเฉลิมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น เรามีพื้นที่ในการทำชลประทานแค่เพียง 80,000 ไร่ สามารถทำอ่างเก็บน้ำได้ทั้งหมด 3 อ่าง ประกอบด้วย 1.อ่างเก็บน้ำแม่ละเมาตอนกลาง บ้านใหม่พัฒนา ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด มีความจุน้ำอยู่ที่ 85.29 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำถ้าเฉลี่ยรายปี 314 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากใช้อุปโภคบริโภค 21 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ส่งไปช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานเพิ่มเติมจากเขื่อนทดน้ำโกกโก่ 16,800 ไร่ เป็น 70,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 2.อ่างเก็บน้ำแม่กึ๊ดหลวงตอนบน ต.แม่กาษา อ.แม่สอด ความจุ 2.45 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อเกษตรกรรม มีพื้นที่ชลประทาน 3,000 ไร่ และ 3.อ่างเก็บน้ำห้วยอุ้มเปี้ยมตอนบน บ้านแม่ระเมา ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ ความจุ 84.07 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการเกษตร โดยมีพื้นที่ชลประทาน 38,000 ไร่

Advertisement

“พอเราสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จก็จะปล่อยน้ำมาให้กับเขื่อนทดแทนโกกโก่ เราพยายามที่จะวางแผนผลักดัน หากวันนี้เราพูดคุยกับพี่น้องประชาชนว่าจะมีความต้องการหรือไม่ หากประชาชนเห็นด้วยภายในปี 2562 เราก็สามารถที่จะออกแบบได้ หากมีความพร้อม ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบ เสนอแล้วผ่านคณะรัฐมนตรี หากมีมติเห็นชอบภายในปี 2563 สามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้และภายในปี 2565 อ่างเก็บน้ำก็จะเสร็จเรียบร้อย” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

Advertisement

ด้านนายดุสิต แสงสุคนธ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จ.ตาก กล่าวว่า พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของ จ.ตาก เป็นพื้นที่ชายแดน 5 อำเภอ อาทิ อ.แม่ระมาด มี 3 ตำบล อ.แม่สอด 8 ตำบล และ อ.พบพระ 3 ตำบล โดยพื้นที่ชลประทานในปัจจุบันพัฒนาไปแล้ว 70% ปัจจุบัน อ.แม่สอด ต้องการใช้น้ำ 14 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ในอนาคตอาจใช้ถึง 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบกับชาวบ้านใช้น้ำจากแม่น้ำเมย แต่ปัญหาคือเวลาหน้าแล้งจะขาดแคลนน้ำอย่างมาก

ขณะที่นายยิ่งปลิว ศุภกิตติวงศ์ ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความคืบหน้าการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ละเมาตอนกลาง บ้านใหม่พัฒนา อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพดินในพื้นที่ เนื่องจากต้องทำการขุดเจาะ จึงต้องตรวจสอบสภาพดินว่ามีลักษณะแบบไหน ซึ่งระหว่างการรอคำสั่งสร้างก็จะเร่งศึกษาพื้นที่ไปก่อน เพื่อเตรียมการก่อสร้างในอนาคตต่อไป

ทางด้านนายมานพ ทิยอด ประธานคลองส่งน้ำโกกโก่ กล่าวว่า ค่อนข้างเห็นด้วยกับการสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 3 แห่ง ที่ทางกรมชลประทานเสนอทางเลือกให้กับชาวบ้าน ยอมรับว่าในช่วงแรกยังไม่ค่อยเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับมากนัก จึงมีชาวบ้านบางส่วนต่อต้าน แต่พอทางกรมชลประทานส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่หัวหน้าชุมชนและประชาชนบางส่วน จึงทำให้เห็นภาพและผลประโยชน์ที่จะได้รับชัดขึ้นว่าประชาชนในพื้นที่จะได้รับน้ำอย่างทั่วถึงแน่นอน

“ชาวบ้านที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการสร้างอ่างเก็บน้ำ เท่าที่ทราบเป็นเพราะพวกเขาไม่ค่อยได้เข้าประชุม ในฐานะประธานจึงได้ตั้งกฎให้ชาวบ้านในเขตการปกครองของตนต้องเข้าร่วมการประชุมทุกครั้ง หากไม่เข้าร่วมก็จะเก็บเงินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชนต่อไป” นายมานพกล่าว

นายตวย สีขาว เลขานายกทุ่งหลวงแม่จะเรา ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า หากทำอ่างเก็บน้ำขึ้นมาจริงๆ ก็เป็นผลดีกับชาวบ้าน เพราะเวลาน้ำท่วมน้ำก็ไหลออกหมดไม่ได้เก็บไว้ แต่ถ้าสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ในช่วงหน้าแล้งชาวบ้านก็จะมีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร ตอนแรกรู้สึกกังวล เพราะคิดว่าหากทำอ่างเก็บน้ำด้านบนแล้วจะไม่มีการปล่อยน้ำมาให้คนข้างล่าง แต่ตอนนี้ทางกรมชลประทานจะทำอ่างเก็บน้ำดังกล่าวเชื่อว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีใครคัดค้าน ยิ่งรองอธิบดีกรมชลประทานออกมาพูดเองว่าชาวบ้านจะต้องมีน้ำใช้แน่นอน ตนยิ่งมั่นใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image