แพทย์ชี้อุปกรณ์กู้ชีพในที่สาธารณะไม่เพียงพอ แนะประชาชนควรศึกษาวิธีการปั๊มหัวใจรับมือกรณีฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ในงานเฮลท์แคร์ 2018 “สายตาดีมีสุข” ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่บูธโรงพยาบาลเลิดสิน มีการจัดชุดสาทิตการทำ CPR หรือการปั๊มหัวใจ สำหรับกรณีฉุกเฉินควบคู่กับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ AED โดยในบูธมีประชาชนผู้เข้าร่วมงานร่วมทำกิจกรรมปั๊มหัวใจด้วย

พญ.ธัญญพิมพ์ สินธ์ุจิรา แพทย์เวชศาสาตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเวลาหัวใจหยุดเต้นจะต้องกดหน้าอก แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร หรือเป็นหน้าที่ของใคร เป็นผลจากหลักสูตรกู้ชีพไม่ได้บรรจุไว้ในระบบการศึกษา ส่วนเครื่อง AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจ อัตโนมัติมีจำนวนไม่เพียงพอและยังไม่เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างในไทยจึงเสนอให้มีการติดตั้งเครื่องAED ในที่สาธารณะมากกว่านี้ ทั้งนี้ ตนจึงขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้เพราะไม่ใช่เรื่องยากเกินทำความเข้าใจ

พญ.ธัญญพิมพ์ อธิบายถึงหลักการกู้ชีพโดยการปั๊มหัวใจเบื้องต้นว่าไม่สามารถทำคนเดียวได้ หากพบว่ามีคนหมดสติอยู่ตรงหน้าให้ติดต่อไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เบอร์โทรศัพท์ 1669 เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้ามายังพื้นที่เกิดเหตุ ระหว่างนั้นให้สังเกตอาการจากการหายใจเป็นหลัก โดยผู้ปฐมพยาบาลต้องสังเกตพื้นที่โดยรอบว่าปลอดภัยต่อตัวเองและคนไข้หรือไม่ จากนั้นผู้ปฐมพยาบาลค่อยแนบแก้มไปยังบริเวณใต้จมูกเพื่อเช็คลมหายใจของคนไข้พร้อมกับสังเกตว่ามีความเคลื่อนไหวที่หน้าอกและท้องหรือไม่ หากไม่มีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่อยู่ตรงหน้านั้นหัวใจหยุดเต้น ถึงจะเข้าสู่การทำซีพีอาร์

พญ.ธัญญพิมพ์ อธิบายต่อว่า เริ่มจากผู้ปฐมพยาบาลอยู่ข้างลำตัวคนไข้ และประสานมือโดยให้ข้างที่ไม่ถนัดอยู่ข้างล่างแล้วเหยีดแขนให้ตรง วางลงไปที่กลางหน้าอกบริเวณหัวนม แล้วกดลงเป็นจังหวะต่อเนื่อง 2 นาที โดยไม่แนะนำให้ทำการผายปอด

Advertisement

เมื่อถามถึงความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการปั๊มหัวใจกู้ชีพ พญ.ธัญญพิมพ์กล่าวว่า หากปล่อยไว้โดยไม่ลงมือทำอะไรก็นับว่าเสี่ยงพอกัน การปั๊มหัวใจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงทำให้ซี่โครงอาจหักแต่ถ้าคนไข้ฟื้นขึ้นมาก็ยังสามารถรักษาได้

ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้เข้าร่วมงานพบว่ายังมีหลายคนที่ไม่ทราบว่าในการปั๊มหัวใจเบื้องต้นต้องทำอย่างไรให้ถูกวิธี โดย พญ.ธัญญพิมพ์ กล่าวว่าตนคาดหวังให้ประชาชนได้รับรู้และตื่นตัวมากขึ้นและนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ไปบอกต่อกัน พร้อมกับแนะนำให้ไปร่วมกิจกรรมในโครงการ”CPRในสวน(หลวงร.9)” จากแพทย์พยาบาลอาสาสมัครจากโรงพยาบาลต่างๆ มาให้ความรู้ในการกู้ชีพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image