สัตวแพทย์ ม.เกษตรฯ ประสบความสำเร็จผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจในม้า เป็นครั้งแรกของเอเชีย

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานการแถลงข่าว คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. ประสบความสำเร็จการรักษาม้าด้วยการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบถาวร (Pacemaker) นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและในทวีปเอเชีย ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในแนวทางการรักษาโรคหัวใจในม้า และยังเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่
ม้าไทเกอร์ ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ ม.เกษตร2
สพ.ญ.ดร.สุนทรี เพ็ชรดี ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทย์ กล่าวว่า ได้มีม้าแข่งเพศผู้ สายพันธุ์ Warmblood ชื่อไทเกอร์ อายุ 18 ปี ถูกนำเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา

เบื้องต้นพบว่า ม้าตัวนี้มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าผิดปกติ อ่อนเพลียเรื้อรัง ออกกำลังกายได้ไม่เต็มที่ อาจส่งผลต่อการเกิดอาการหัวใจล้มเหลว จึงได้ร่วมกับทีมงาน ประกอบด้วย ผศ.น.สพ.ดร.วรกิจ เชิดชูธรรม, น.สพ.เมธา จันดา, สพ.ญ.รติกร บุตรชา และ น.สพ.วันชาติ ยิบประดิษฐ์ ทำการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรในตัวม้าไทเกอร์ เพื่อกำหนดอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ในภาวะปกติ ทำให้มีปริมาณเลือดออกจากหัวใจเพียงพอกับความต้องการของร่างกายม้า
ม้าไทเกอร์ ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ ม.เกษตร3
ผลการผ่าตัดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ขณะนี้ม้าอยู่ในระยะพักฟื้น มีอาการดีขึ้นตามลำดับ สามารถมีชีวิตอยู่ได้ปกติเหมือนม้าทั่วๆ ไป ส่วนจะกลับมาลงแข่งขันได้อีกหรือไม่นั้น สามารถจะลงแข่งขันได้อีก แต่จะต้องได้รับการดูแลและตรวจตามขั้นตอน เข้าทดสอบความสามารถทางกีฬา โดยเฉพาะการดูแลเรื่องอัตราการเต้นของหัวใจ

การแถลงข่าวระบุด้วยว่า ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งนี้ รวมถึงการดูแลตั้งแต่ต้นและหลังผ่าตัด รวมทั้งอุปกรณ์ติดตั้ง อยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาท ถูกกว่าค่าใช้จ่ายที่ผ่าตัดอย่างเดียวกันในประเทศอังกฤษที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2 หมื่นปอนด์ หรือร่วม 1 ล้านบาท
ม้าไทเกอร์ ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ ม.เกษตร4
ข้อมูลวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า สำหรับม้าสายพันธุ์ Warmblood หรือม้าเลือดอุ่น พัฒนามาจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างเลือดร้อนและเลือดเย็น เป็นการเพาะพันธุ์เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานพิเศษบางประการ โดยเฉพาะในยุโรป ม้าบ้านมีมากกว่า 300 พันธุ์ในปัจจุบัน เป็นการพัฒนาเพื่อการใช้งานที่ต่างกันไป
(เครดิตภาพประกอบ : คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image