ภาคเอกชนเห็นด้วยขึ้นทะเบียนโดรน ขอครอบคลุมทุกชนิด เทคโนโลยีไปเร็วกม.ต้องทันสมัย

เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 18 กรกฎาคม ภายในงานเสวนา “Drone&UAV ในห้วงอากาศ ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน” ซึ่งจัดโดยกองทัพอากาศ นายปรีดา ยังสุขสถาพร รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยระบุว่า คำจำกัดความของโดรน เป็นคำที่มีที่มายาวนาน ในช่วงปี ค.ศ. 1920-1930 เนื่องจากทหารใช้มาก่อน เป็นเป้าฝึกซ้อมสมัยสงครามโลก ส่วนนิยามในกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ 2497 ระบุว่าเครื่องที่ทรงตัวอยู่ได้บนอากาศ ก.คมนาคม บัญญัติไว้จำเป็นต้องถูกควบคุม ส่วนบางอย่างจะเป็นเพียงเครื่องเล่นธรรมดา เช่น บอลลูน เครื่องร่อน ไม่เรียกว่าเป็นอากาศยาน สำหรับโดรนนั้นถือว่าเป็นเพราะทรงตัวในอากาศได้ ซึ่งกรมการบินพลเรือนจะดูแลความปลอดภัยตามมาตราฐานสากลเป็นหลัก ไม่มองเป็นของเล่นเพราะต้องถูกกำกับดูแล

“ถ้าคิดว่าต้นทุนของการให้ได้มาถึงความปลอดภัยมีราคาสูง ลองเกิดอุบัติเหตุสักครั้งจะรู้ว่าความเสียหายมีราคาสูงกว่ามาก จึงต้องควบคุมตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดรนมีวัตถุประสงค์การใช้งานมากกว่าเป็นของเล่น รวมถึงมีรัศมีการบินที่ไกลกว่า” นายปรีดากล่าว

ด้านนายธเนศ ดวงพัตรา บริษัท ไทยสกาย ดิจิตอล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการให้บริการถ่ายภาพทางอากาศมากกว่า 40 ปี กล่าวถึงประเด็นของความจำเป็นในการขึ้นทะเบียนโดรนในมุมมองของภาคเอกชนว่าสำหรับคนที่ไม่ได้มีโดรนเพื่อเล่นเป็นงานอดิเรก ก็ห่วงว่ากระทบอาชีพ ซึ่งสิ่งที่หลายคนคิดเหมือนกันคือไม่กลัวถ้ามีกฎหมายควบคุม เพราะอยากให้มีกฎหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว และต้องการให้มีการทบทวนกฎหมายและคำนิยามว่าจะควบคุมเครื่องบินเล็กไร้คนขับชนิดอื่นอย่างอื่นอย่างไรด้วยไม่ใช่เฉพาะโดรนอย่างเดียว

นายธเนศกล่าวว่าจากการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวกับการบิน พบว่าในปัจจุบันมีโดรนจดทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมการบินพลเรือน ประมาณ 6,000 ลำ และที่ กสทช. ประมาณ หมื่นกว่าลำ ซึ่งส่วนใหญ่จดเฉพาะโดรนลำเล็ก ลำใหญ่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น บินเพื่อการเกษตร ส่วนตัวมองว่าเป็นช่องว่าง อยากมีกฎหมายครอบคลุม ซึ่งตนเข้าใจที่มาที่ไปของกฎหมาย แต่อยากให้ทำความเข้าใจร่วมกัน สำหรับโดรนนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ เล่นโดรนเป็นงานอดิเรก และการใช้โดรนเป็นอาชีพ ควรมีการควบคุมและปฏิบัติต่างกัน อาจมีพื้นที่ให้อย่างถูกต้องสำหรับมือสมัครเล่น เป็นต้น ในมุมของผู้ใช้โดรน ดีใจที่มีกฎหมายออกมาควบคุม แต่อยากให้ลงลึกในด้านปฏิบัติด้วย

Advertisement

นายธเนศมองว่าควรจำแนกไปเลยว่ากฎหมายจะควบคุมแบบไหนและอย่างไร เพราะเทคโนโลยีเรื่องโดรนไปเร็วมาก กฎหมายก็ควรมีความรวดเร็ว ทันสมัย และตอบโจทย์ วิธีปฏิบัติเครื่องบินใหญ่และ ฮ. ต่างจากโดรน จึงนำมาใช้หมดไม่ได้เช่น ระดับความสูงในการบิน เพราะเครื่องใหญ่ต้องบินสูง แต่ถ้าเป็นโดรนยิ่งบินต่ำ ยิ่งปลอดภัย ทำให้บางส่วนของกฎหมายในทางปฏิบัติต้องปรับ ไม่ว่าโดรนจะเครื่องเล็กหรือใหญ่ก็เสียหายได้ โดยเฉพาะในความมั่นคง ยิ่งเครื่องเล็กก็อาจกระทบรุนแรง เพราะยิ่งเล็กยิ่งมีประสิทธิภาพทางเทคโนโลยีมาก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image