เปิดมุมมองการช่วยเหลือ 13 หมูป่า ‘ด้านวิศวกรรม’ หลายหน่วยร่วมช่วย วสท.เตรียมจัดงานเชิดชูเกียรติ จนท.

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 กรกฎาคม ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทีมนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ถึง 18 วัน ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมาต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะมีชีวิตของเด็ก 13 ชีวิตอยู่ในถ้ำหลวงฯ ทุกคนตามติดเหตุการณ์นี้ และมีหลายภาคส่วนที่ไปช่วย แสดงถึงน้ำใจคนไทย ซึ่งตนนึกอยู่เสมอว่าถ้าจบงานแล้วจะจัดงานถอดบทเรียนทางด้านวิศวกรรม ไม่ใช่ภาพรวมหรือแนวคิดด้านวิชาการ และสำหรับงานเสวนา “ถอดบทเรียนปฏิบัติการทางวิศวกรรมช่วย 13 หมูป่า กู้ภัยระดับโลก” ซึ่งจัดขึ้นโดย วสท.ว่าอยากให้ทราบที่มาที่ไป และกระบวนการการปฏิบัติงานด้านวิศวกรรม รวมถึงได้รู้จักผู้ปฏิบัติงานตัวจริงที่จะมาเล่าประสบการณ์แบบไม่ผ่านคนอื่น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนครบถ้วน พร้อมระบุว่า ตนชื่นชมทุกท่านจากใจจริงที่ทำงานมาจากความรู้สึก พร้อมจะจัดงานเชิดชูเกียรติให้เหมาะสม โดยจะจัดอีกครั้งในงานวิศวกรรมแห่งชาติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อทำหนังสือ ส่วนรายละเอียดในการเสวนาวันนี้จะได้เห็นเทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานว่านำให้ไปเจอเด็กได้อย่างไร

สำหรับในประเด็นที่ว่ามีหลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือนั้น มีการแบ่งความรับผิดชอบและประสานงานอย่างไร นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ภารกิจหลักไม่พ้นหน่วยงานซีล เพราะต้องเสี่ยงชีวิตและมีการสูญเสีย ต้องยอมรับว่าหนักหนาสาหัสจริง หน่วยงานที่เข้าไปสมทบมีเยอะมาก ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน จิตอาสา กว่า 5,000 คน และสื่อมวลชนอีกกว่า 1,000 คน สำหรับในส่วนกรมอุทยานฯ เป็นเรื่องของพื้นที่วนอุทยาน ซึ่งกรมอุทยานฯดูแลอยู่ อะไรทำได้ก็ทำ แม้มีทีมกู้ภัยของกรมแต่ก็สู้ซีลไม่ได้ จึงเน้นงานสนับสนุน เช่น สูบน้ำ ลดระดับน้ำ ตนเข้าใจว่าเด็กอยู่แบบมืด 8 ด้าน ตอนแรกมองว่าจะเอาน้ำออกทางตรง ส่วนทางอ้อมต้องอาศัยความรู้ทางธรณีวิทยา เพราะมีโพรง และอาจเจาะทางน้ำ เพราะคาดว่าเชื่อมต่อกัน รวมถึงมีน้ำบาดาล จึงมองว่าใต้โพรงอาจมีการเชื่อมต่อกัน จึงมีการสูบน้ำ ค้นหาโพรงถ้ำ และคาดว่ามีรูที่เชื่อมต่อกัน แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่ช่วยอะไรในถ้ำไม่ได้นอกจากแบกของ เช่น ถังออกซิเจน และตระหนักดีว่าซีลภารกิจหนักมาก อะไรช่วยได้ต้องช่วย หลังๆ เริ่มมองว่าโพรงด้านบนไม่น่าจะช่วยอะไรแต่ยังคงค้นหาต่อ

“วนอุทยานฯมีพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ต้องค้นหาทางเข้า-ออก ทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อช่วยเหลือหน่วยซีล และมีการย้ายลำห้วย แต่ยังมีหลายทีมช่วยค้นหา หลายหน่วยงานช่วยทำให้เสร็จเร็วขึ้น มีการเบี่ยงทางน้ำ สแกนหาทางน้ำและโพรงเพื่อนำน้ำออกจากถ้ำ โดยแบ่งภารกิจเป็น 2 งานใหญ่คือ 1.สำรวจโพรงถ้ำ และ 2.การขนส่งอุปกรณ์ให้ชุดปฏิบัติการภายในถ้ำ สำหรับบริเวณหน้าถ้ำหลวงฯ ล่าสุดรื้ออุปกรณ์ออกหมดแล้ว ด้านบนหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี และอยู่ระหว่างทำความสะอาดพื้นที่” นายจงคล้ายกล่าว

Advertisement

นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในตอนแรกได้รับโจทย์ว่ามีเด็ก 13 คน ติดอยู่ตรงไหนไม่รู้ภายในถ้ำ และไม่ทราบว่าถ้ำหน้าตาเป็นอย่างไร จึงต้องดูว่างานวิชาการที่เกี่ยวข้องมีอะไรช่วยได้บ้าง ตอนแรกยังตั้งตัวไม่ได้ เริ่มหารือกันเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ และต้องรู้สภาพของถ้ำ

“ช่วงแรก แบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นด้านข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเพื่อสนับสนุน ศอร. มีการนำข้อมูลด้านธรณี ภาพถ่ายทางอากาศ ดาวเทียม แผนที่ภูมิประเทศ จากหลายหน่วยงาน รวมถึงได้ประสานไปยังนายมาร์ติน เอลลิส เพื่อนำมาใช้งานร่วมกัน และประสานให้หน่วยซีลนำไปใช้ อีกส่วนคือการทำงานภาคสนาม โดยมีทีมสำรวจถ้ำ การหาโพรง ตำแหน่งหลุมเจาะ โดยเป็นงานที่ต้องใช้ข้อมูลด้านแผนที่มาประมวลภาพ ช่วงแรกแผนที่ยังมีการปรับอยู่บ้าง ต้องดูข้อมูลด้านธรณีฟิสิกส์ว่าสามารถเจาะด้านใดได้บ้าง ลึกเท่าไหร่ หนาเท่าไหร่ เบื้องต้นคำนวณได้ที่ 300-900 เมตร ถ้าเจาะวันละร้อยเมตรเป็นอาทิตย์กว่าจะทะลุ และโพรงอาจจะมีขนาดเปลี่ยนไปแต่ใช้เวลานาน รวมถึงโพรงอาจจะไม่ต่อกัน นอกจากนี้การสูบน้ำออกอย่างเดียวไม่พอ ต้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปเพิ่มเติมด้วย” นายสมหมายกล่าว

ด้าน นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ได้ปฏิบัติงานเป็น 3 ส่วนตามผู้บัญชาการเหตุการณ์บอก แต่งานเน้นไปที่ช่วงแรกคือการค้นหา ซึ่งตนได้ข่าวตั้งแต่ 23 มิถุนายน ตอนเย็น ต่อมาทราบว่าหาเด็กไม่เจอ ประกอบกับน้ำขึ้นเด็กออกไม่ได้ มีความยุ่งยากเชิงเทคนิค จึงต้องประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย และพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ แม้จะกระทบสิ่งแวดล้อม หรือชาวบ้าน แต่เป้าหมายคือช่วยเด็ก ประกาศเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ หากดำเนินการไปแล้วเกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา เพราะไม่ใช่แค่ค้นหาอย่างเดียว แต่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ อาจมีเรื่องต่างๆ ตามมา ไม่เหมือนเคสตึกถล่มทั่วไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image