วงเสวนา วสท.เผยช่วย 13 หมูป่าออกถ้ำ ‘ยากตั้งแต่เริ่มต้น’ ชม ‘ณรงค์ศักดิ์’ มีความเป็นผู้นำสูง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 กรกฎาคม ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงการช่วยเหลือและนำทีมนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ออกมาเพื่อส่งกลับบ้านว่า ความยากมีมาตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่การค้นหา เหมือนเด็กโดนฝังอยู่ด้วยน้ำ โคลนด้านใน ยอมรับว่าตอนแรกมองไม่เห็นหนทาง แต่ทุกคนพุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือเด็ก และทุกคนมีกำลังใจดี ก่อนเจอก็ถือว่ายากแล้วและกังวลว่าเด็กจะทนไม่ได้เพราะขาดอาหารนานถึง 10 วัน รวมถึงหาทางลงจากโพรงด้านนอกถ้ำไม่ได้ แม้แต่เมื่อตอนที่ใช้อุปกรณ์สแกนเจอ แต่เมื่อเดินหาก็ยังไม่เจอ ต้องขอบคุณทีมรังนกด้วยเพราะช่วยเหลือเป็นอย่างดี หลังจากนั้นเมื่อเจอเด็กเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม และกู้ภัยนำออกในวันที่ 8 กรกฎาคม จำเป็นต้องหาวิธีการ ซึ่งทางโพรงดูเป็นไปไม่ได้เลย ตนจึงมองว่าควรให้ออกทางเข้า โดยทางหน่วยซีลเองก็เสนอหลายวิธี แต่ต้องเลือกที่เหมาะสมโดยอาศัยสถานการณ์และการประเมินจากนักดำน้ำต่างชาติร่วมด้วย

“ยอมรับว่าอดีตผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์มีความเป็นผู้นำสูงมาก โดยบอกกับทุกคนว่า หากเด็กเป็นอะไรไปแม้แต่คนเดียวถือว่าภารกิจล้มเหลว ทำให้บีบหัวใจมาก จึงต้องอาศัยสถานการณ์ที่เหมาะสมและพาเด็กออกมาก่อนมีพายุเข้า เพราะตอนนั้นต่อให้ปิดทางน้ำและสูบน้ำก็ช่วยไม่ได้ และสถานการณ์จะเปลี่ยนไป” นายจงคล้ายกล่าว

ขณะที่ นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า ภารกิจการค้นหาว่ายากแล้ว แต่การกู้ภัยเพื่อนำเด็กออกมานั้นยากกว่า ตอนแรกประเมินให้อยู่ในถ้ำก่อนเพราะคาดว่าอากาศเพียงพอ แต่สุดท้ายไม่พอ จึงต้องให้ซีลที่เข้าไปอยู่กับเด็ก 7 คนในตอนแรก ถอนออกมา 3 คน เพื่อให้อากาศเพียงพอต่อเด็ก ส่วนเรื่องเจาะยังต้องประเมินความเป็นไปได้เพราะอาจกระทบถ้ำ รวมถึงทุกวิธีการที่จะทำต้องอาศัยเวลามาก แต่ดูจากการที่เด็กพร้อม แข็งแรง เพราะเด็กกำลังใจดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังจำเป็นต้องเน้นเรื่องอาหาร และส่งหมอไปดูแล สำหรับเรื่องทักษะต่างๆ ที่จำเป็นจะช่วยให้ออกมาได้ เด็กก็ยอมรับและพร้อมปฏิบัติตาม รวมถึงยังมีเทคโนโลยีต่างๆ เป็นตัวช่วยเข้าไปเสริม ที่สำคัญคือระดับน้ำ ซึ่งหน่วยซีลพอใจการดำรงระดับน้ำในถ้ำให้เพียงพอแค่การโผล่ศีรษะหายใจ

ด้าน นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า หลังจากที่ได้รับข้อความจากผู้เชี่ยวชาญของทางต่างชาติว่า “The Time is Running Out” ซึ่งแปลได้ว่า เวลากำลังใกล้จะหมด ก็รู้สึกกังวลเพราะจะต้องทำงานแข่งกับเวลา ต้องประเมินว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง โดยเฉพาะการเจาะโพรง ต้องเจาะให้ใกล้กับบริเวณเนินนมสาวซึ่งอยู่ใกล้เด็กมากที่สุด แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังสูงเพราะอาจจะไปเจอที่แคบหรือจุดที่มีน้ำ แต่สุดท้ายแล้วก็ได้ข้อสรุปจากทุกฝ่ายว่าควรนำเด็กออกมาตามทางเดิม แต่ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image