กระทรวงแรงงานเล็ง ‘ยืดอายุเกษียณ’ เร่งศึกษาข้อมูลคาดไม่ต่ำกว่า 6 ด.ได้ข้อสรุป

เมื่อวันที่ 13 เมษายน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงนโยบายการรองรับสังคมผู้สูงอายุในส่วนของกระทรวงแรงงาน ว่า แผนกลยุทธ์การทำงานของผู้สูงอายุซึ่งกระทรวงแรงงานเป็นคณะอนุกรรมการส่งเสริมและขยายโอกาสด้านอาชีพของผู้สูงอายุมี 5 ด้าน คือ 1.การกระจายงานสู่บ้าน/ชุมชน 2.การขยายอายุการเกษียณราชการ ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับไปศึกษาต่อว่าสามารถทำได้หรือไม่ 3.การส่งเสริมให้จ้างงานต่อเนื่องในภาคเอกชน ในสาขาอาชีพที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือ ตำแหน่งที่ขาดแคลน 4.ส่งเสริมการจ้างงานของผู้สูงอายุในกลุ่มอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ประสบการณ์การทำงานและทักษะความสามารถ และ 5.สร้างฐานข้อมูล โดยการสำรวจความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุ รับลงทะเบียนผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน เพื่อจัดทำเป็นตลาดแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเริ่มดำเนินโครงการ Brain Bank ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานที่มีความต้องการจ้างผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี และรวบรวมข้อมูลของผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน ถึงความสามารถ ประสบการณ์ โดยจัดแบ่งเป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมููลจากนายจ้าง และขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างร่างแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ(กผส.)

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้เสนอมาตรการแก้ปัญหาโดยเสนอให้เพิ่มอายุเกษียณของไทยจากเดิม 55-65 ปี เพราะจากการศึกษาของไอแอลโอพบว่าอายุเกษียณของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก หากดูประเทศสิงคโปร์ ที่มีอายุเกษียณอยู่ที่ 67 ปี หรือปรับอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพ ปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวนเงินบำนาญ เนื่องจากปัจจุบันไทยเก็บเงินสมทบน้อยแต่มีรายจ่ายเงินสมทบกรณีบำเหน็จและบำนาญมาก ซึ่งกระทรวงแรงงานก็จะนำข้อมูลของไอแอลโอไปศึกษาอีกครั้ง โดยต้องนำการดำเนินงานที่ผ่านมาของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ มาประกอบการพิจารณาด้วย คาดว่าใช้เวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image