วงเสวนายก ‘งานแปลข่าวถ้ำหลวง’ เป็นบทเรียน รัฐต้องเป็นกำลังสำคัญ ไม่ชัวร์-อย่าแชร์

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ จัดเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “‘สื่อ’ หรือ ‘สาร’ บริหารภาวะวิกฤต ในยุค Globalization” โดยมี นางพิชญา เมืองเนาว์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล บรรณาธิการข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเลขาธิการสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียนฯ, นายกิตติ สิงหาปัด พิธีกร-ผู้ประกาศข่าว และนางธีระสิน แสงรังษี ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

นายดำฤทธิ์กล่าวว่า หลักการการนำเสนอข่าวควรเลือกแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ สามารถตรวจสอบแหล่งข่าวได้ในทุกประเด็น หากกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ระดับโลก คล้ายกับเรียลลิตี้ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและอยากติดตามให้ถึงตอนจบ ส่วนการทำงานของสื่อที่ถ้ำหลวง มีช่องทางการรับข่าวสารอยู่ 2 ช่องทางที่เชื่อถือได้มากที่สุด คือ 1.ไลน์กลุ่มของกรมประชาสัมพันธ์ 2.การแถลงข่าวความคืบหน้าจากคณะ ศอร.

“ส่วนนักข่าวต่างประเทศ ทางกลุ่มนักข่าวจากไทยรัฐและสำนักอื่นๆ ต้องเป็นตัวแทนในการแปลข่าวให้กับนักข่าวประเทศต่างๆ มองว่าทำให้ทุกฝ่ายทำงานได้ช้าลง ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดีที่วงการสื่อและหน่วยงานภาครัฐจะได้เห็นความสำคัญของการแปลภาษา ว่าฟังออกแปลได้อย่างเดียวไม่พอ ภาครัฐต้องเป็นกำลังสำคัญในการแปลภาษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและไม่ผิดเพี้ยน เพราะฉะนั้นถ้าไม่ชัวร์ อย่าแชร์” นายดำฤทธิ์กล่าว

นางธีระสินกล่าวว่า งานด้านประชาสัมพันธ์ของการบินไทยมีกลุ่มงานประชาสัมพันธ์อยู่หลายหน่วยงาน เพราะธุรกิจการบินมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตได้บ่อยครั้ง ทางการบินไทยจึงมีศูนย์ประสานญาติผู้ประสบภัย พร้อมมีทีมงานเทียบเท่ากับจำนวนผู้ประสบภัย เพื่อที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะดูแลในเรื่องของการเดินทาง ค่าชดเชย การดูแลสภาพจิตใจให้กับญาติของผู้ประสบภัยกับทางการบินไทย อาทิ เหตุการเครื่องบินตกเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ โดยศูนย์ประสานญาติจะมีการจัดตั้งขึ้นอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ต้องดูพื้นที่ที่เหมาะสมกับการจัดตั้งศูนย์ และช่วงจังหวะเวลาว่าไม่ควรให้ข้อมูลข่าวสารที่ช้าจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลต่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

Advertisement

“อุปสรรคหลักบางครั้งอาจเป็นแหล่งข่าวที่เปิดเผยไม่ได้ เป็นเรื่องที่ควบคุมยาก จึงควรดูว่าสื่อต้องการข้อมูลอะไร เราต้องจับประเด็นตรงนั้นให้กับสื่อ เพราะหากเป็นวิกฤตใหญ่จะมีการทำงานตลอด 24 ชม. ซึ่งจะแบ่งหน้าที่กันว่าใครจะต้องทำอะไรในศูนย์บริหารงานภาวะวิกฤต โดยมีทีมผู้บริหารรอรับข้อร้องเรียนอยู่ที่สำนักงานใหญ่” นางธีระสินกล่าว

นายกิตติกล่าวว่า กรณีถ้ำหลวง จุดแพ้ชนะของการทำข่าวอยู่ที่ประเด็นว่า หน่วยซีลจะเจอเด็กเมื่อไหร่ ซึ่งระหว่างทาง สำหรับข่าวทีวี หากไม่มีการอ้างอิงจะไม่มีทางนำมาออกอากาศ หากยังไม่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ก็จะนำข้อมูลข่าวตลอดทั้งวัน หรือไม่ก็นำเสนอภาพเหตุการณ์จริงในพื้นที่ไปก่อน เป็นการมอบข้อมูลที่เป็นความจริงให้กับประชาชนได้รู้ แม้ช้ากว่าช่องทางออนไลน์ แต่ได้รับข้อมูลที่ชัวร์กว่า ส่วนการบริหารงานในภาวะวิกฤตจะมีการขยายความยากง่ายไปเรื่อยๆ ซึ่งการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ต้องรู้จุดแข็ง-จุดอ่อนองค์กร ต้องหาข้อเท็จจริงเพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนที่รอรับข้อมูลจากทุกช่องทาง และต้องมีความพร้อมด้านข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งผู้รับสารต้องมีวิจารณญาณในการอ่านข่าวเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image