จัดแถว ‘โรงแรม’ อุ้ม ‘ธุรกิจ-นักเที่ยว’

หลายปีที่ผ่านมา หลายฝ่าย รวมถึงสมาคมโรงแรมไทยได้เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งแก้ไขปัญหาโรงแรมเถื่อนทั่วประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัย มีการแข่งขันที่เป็นธรรม รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันยังมีโรงแรมหลายพันแห่งทั่วประเทศ ไม่สามารถดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตได้ และหากพบความผิดต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะที่ผู้ประกอบการมีทั้งเจตนาทำผิดกฎหมายเพื่อแข่งขันทางธุรกิจจากการท่องเที่ยว บางส่วนติดเงื่อนไขหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาต จากการนำอาคารที่พักอาศัยรวม อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม บ้านพักพูลวิลล่า ตึกแถวมาเปิดให้นักท่องเที่ยวพักรายวัน

ในเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มีปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้น เริ่มจากกรุงเทพฯ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวชั้นนำของเอเชีย โรงแรมหลายๆ ดาว กุมขมับ ทุนหายกำไรหด เพราะคอนโดฯ อพาร์ตเมนต์ พลิกสภาพเป็นโรงแรม รับทัวร์มาลงทีละเป็นคันรถ กิจการรุ่งเรืองเพราะต้นทุนต่ำกว่า เสียภาษีน้อยกว่า แถมยังเข้าไปอยู่ในเว็บท่องเที่ยว มีระบบการจองออนไลน์

Advertisement

กิจการโรงแรมที่ขายราคาถูก สำหรับนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ไม่ใช้เวลาในห้องพักมากนัก กลายเป็นเหมืองทองที่ใครๆ ก็อยากมาเสี่ยงโชค

ตัวอย่างจากเชียงใหม่เมื่อปี 2559 ฝ่ายปกครอง ร่วมกับตำรวจและทหารเข้าตรวจสอบโรงแรมของอาเสี่ยชื่อดัง ก่อนสั่งปิดเพราะพบว่าไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม และเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร

ทางจังหวัดระบุว่าอาคารของโรงแรมขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารชุดที่พักอาศัย หรือคอนโดฯ แต่นำมาเปิดเป็นโรงแรม ทำให้อนุญาตประกอบกิจการโรงแรมไม่ได้ ซึ่งทางผู้ประกอบการขอยื่นอุทธรณ์ ตนจึงได้ขอความเห็นไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง และได้รับคำตอบว่าผังเมืองบริเวณนี้ห้ามสร้างโรงแรมขนาดใหญ่

Advertisement

เมื่อปี 2559 มหาดไทยออกกฎกระทรวงกำหนด เปิดทางให้ผู้นำอาคารประเภทอื่นมาประกอบธุรกิจโรงแรมโดยผิดกฎหมาย มายื่นขอใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารภายใน 5 ปี หรือดัดแปลงอาคารก่อนขอเปลี่ยนการใช้อาคารภายใน 2 ปี แล้วยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมภายใต้ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547

ในปี 2560 กรมการปกครอง (ปค.) รับแจ้งจาก 69 จังหวัดทั่วประเทศ รวม กทม. ว่ามีผู้ประกอบการที่นำอาคารอื่นมาใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมมาลงทะเบียนขณะนี้รวมกว่า 5,449 แห่ง จากจำนวนผู้ประกอบการโรงแรมที่ผิดกฎหมายรวมทั้งประเทศกว่า 10,000 แห่ง ขณะที่โรงแรมที่ดำเนินการถูกต้องมี 30,000 แห่ง

กระบวนการนำโรงแรมผิดกฎหมายเข้าระบบยังดำเนินการอยู่ ขณะเดียวกัน ปัญหาโรงแรมที่ไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง และยังเปิดบริการ ยังเปิดบริการในหลายจังหวัด และในหลายพื้นที่ท่องเที่ยว

ที่เห็นข่าวบ่อยๆ คือ ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีข่าวเกรียวกราวว่า มีโรงแรมดัง 10 แห่ง ไม่มีใบอนุญาตหรือใช้ใบอนุญาตปลอม

และต่อมามีข้อความต่อรองผลประโยชน์ซื้อขายใบอนุญาตโรงแรมหลุดทางไลน์

ฝ่ายปกครองเข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญา แต่บางแห่งยังเปิดให้บริการตามปกติ อย่างไรก็ตาม เทศบาลเมืองหัวหินมีคำสั่งระงับใช้อาคารโรงแรม 5 แห่ง เนื่องจากนำอาคารที่พักอาศัยรวมมาเปิดกิจการโรงแรม

แนวทางดำเนินการต่อไป คือ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพิกถอนใบอนุญาตปลอม เช่นเดียวกับแนวทางของกรมที่ดินสั่งเพิกถอนโฉนดที่ออกโดยมิชอบ

ทางจังหวัดยังเรียกนายอำเภอทั้ง 8 อำเภอประชุม เพื่อหาแนวทางจัดระเบียบทั้งการออกใบอนุญาต และการต่อใบอนุญาตโรงแรม

ยังมีกรณี การก่อสร้างอาคารในที่ดินสาธารณประโยชน์ ทุ่งเลี้ยงสัตว์ดอนทะเล 1,450 ไร่ ทำให้ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้

ทำให้ ผู้ประกอบการโรงแรมกว่า 60 แห่งในพื้นที่ ประกาศปิดกิจการ

แนวทางการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่ได้เข้าพบอธิบดีกรมการปกครอง ขอให้เร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่

และเสนอขอให้ทุกจังหวัดเปิดเผยรายชื่อโรงแรมถูกกฎหมายให้ประชาชนรับทราบ ส่วนโรงแรมที่ประกาศขายห้องพักรายวันผ่านระบบออนไลน์ทั่วโลก จะต้องแจ้งเลขที่ใบอนุญาตโรงแรมที่ยังไม่หมดอายุประกอบการขาย

ในสภาพที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไทย สายการบินต่างประเทศ มาเปิดการบิน ใช้ไทยเป็นจุดหมายสำคัญ โรงแรมเป็นส่วนสำคัญที่จะรองรับ ให้ความปลอดภัยและคุ้มค่า รัฐได้ภาษี นักลงทุนได้ความเป็นธรรม

การสร้างมาตรฐานเดียวกัน เป็นเรื่องจำเป็นและควรจะต้องเร่งด่วน ก่อนที่บรรดาผู้ทำธุรกิจถูกกฎหมายจะรับผลกระทบถึงขั้นล้มหาย หรือเลิกกิจการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image