การรายงานข่าว ‘หมูป่า’ บทบาทสื่อ และ ‘กรอบ’ จากรัฐ-สังคม

หมายเหตุการเสนอข่าว 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง ถือเป็นอีกเหตุการณ์ที่มีการสะท้อนการทำงาน และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมากที่สุด มีการกำหนดกรอบและขอบเขตการทำงานของสื่อ โดยเฉพาะหลังช่วย 13 หมู่ป่าพ้นถ้ำ ซึ่งรัฐบาล ให้สื่องดเว้นการติดตามสัมภาษณ์ 13 หมูป่า การติดตามถึงบ้านเพื่อสัมภาษณ์หมูป่าโดยสำนักข่าวต่างประเทศ 2-3 แห่ง ถูกวิจารณ์โจมตีอย่างหนัก

ในสื่อต่างประเทศ ซึ่งมีสภาพการทำงานในอีกเงื่อนไขหนึ่ง มีการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการกู้ภัยจากประเทศตะวันตก และจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นข้อเท็จจริงในการกู้ภัยทั้งกระบวนการ ซึ่งหลายเรื่องไม่เป็นที่เปิดเผยมาก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญ ความเป็นมืออาชีพ การเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของตนเองของคณะกู้ภัย รวมถึงความกล้าหาญของเยาวชนหมูป่าและผู้ฝึกสอน ที่ทำให้คณะกู้ภัยประสบความสำเร็จในการนำทุกคนออกจากถ้ำ

กรอบการทำงานและวิธีการทำงานของสื่อในสถานการณ์พิเศษ คงจะยังเป็นที่ถกเถียงต่อไป โดยความลงตัวน่าจะอยู่ที่การนำเอาข้อเท็จจริงที่ประชาชนมีสิทธิรู้ออกมาตีแผ่ โดยเคารพในสิทธิของผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ไปพร้อมๆ กัน

ต่อจากนี้เป็น “ความเห็น” ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา “หมูป่าอะคาเดมี่กับแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์กู้ภัย” จัดโดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม

Advertisement


 


ศิปปชัย กุลนุวงศ์
ผู้สื่อข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำนักข่าวเอเอฟพี

เริ่มแรกที่รายงานข่าว เราเห็นว่าข่าวนี้มีคนสนใจมากพอควร เพราะผู้ประสบภัยเป็นเด็กและเป็นทีมฟุตบอล เหตุเกิดช่วงบอลโลกพอดี

Advertisement

ตอนเข้าไปหาข้อมูลยากมาก ต้องรอแถลงข่าวการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ก็อาจไม่อยากเปิดเผยข้อมูล ช่วงแรกข้อมูลจึงมาจากการแถลงข่าวเป็นหลัก นอกจากนั้นต้องหาข้อมูลอื่นจากครอบครัวเด็กและโค้ช ว่าแต่ละคนว่ายน้ำได้ไหม ทำไมถึงเข้าไป เอาอะไรเข้าไปบ้าง รวมถึงข้อมูลสภาพพื้นที่ถ้ำหลวง เพราะเอเอฟพีต้องรายงานข่าวเป็นตัวอักษร ภาพนิ่ง และวิดีโอ ข้อมูลต้องครบถ้วน ทางเอเยนซี่อยากได้ไลฟ์สดด้วย แต่พอทำไปแล้วจะพลาดการหาข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่น จึงส่งนักข่าวมาสมทบเพิ่ม จนสุดท้ายเอเอฟพีส่งนักข่าวเข้าไป 10 คน มาจากสำนักงานในหลายประเทศแถบเอเชีย การใช้นักข่าวเยอะขนาดนี้ ต้องเป็นข่าวใหญ่มาก

การอยู่ในพื้นที่ต้องอัพเดตข่าวตลอดเวลา หาทุกช่องทางที่จะได้ข้อมูล การแถลงข่าวถ้าไม่มีความคืบหน้าอาจต้องไปตามทีมกู้ภัยที่หาโพรงบนเขา หรือนักดำน้ำต่างชาติ โดยประเมินสถานการณ์ประเด็นข่าวจากหน้างาน

การทำข่าวครั้งนี้ ทางการแบ่งโซนจำกัดการทำงานของสื่อพอสมควร มีป้ายติดว่า ห้ามสัมภาษณ์ญาติเพื่อไม่ให้รบกวน ห้ามเข้าถ้ำ หลายสื่อก็เคารพกติกาอย่างดี คนที่ทำงานสื่อทั้งในสนามและสำนักงาน จุดมุ่งหมายนอกจากการจะได้ข่าวคือความปลอดภัยของเด็ก หากอะไร
ที่ทำแล้วจะไปขัดขวางเจ้าหน้าที่ หรือสร้างปัญหา ก็จะเลือกไม่ทำ

เมื่อเด็กออกมาแล้วหมอแนะนำว่าอย่าคุยกับน้อง สื่อส่วนใหญ่ก็เลือกไม่ไปสัมภาษณ์ เอเอฟพีตัดสินใจกันว่าควรให้น้องได้พักผ่อน มีสื่อต่างประเทศบางแห่งเข้าไปสัมภาษณ์เด็ก เรารู้ว่าสื่อต่างชาติเข้าไปขอสัมภาษณ์จะง่ายกว่า เพราะครอบครัวและชาวบ้านจะเกรงใจชาวต่างชาติ แต่ทาง บก.ของเราเข้าใจว่า คนไทยไม่กล้าปฏิเสธ จึงตัดสินใจว่าจะไม่เข้าไปสัมภาษณ์

การตัดสินว่าพฤติกรรมในการรายงานข่าวใดอยู่ในพื้นที่สีเทาหรือไม่ อยู่ที่ว่าเป็นมุมมองจากภาครัฐหรือมุมมองเสรีภาพสื่อ แต่คิดว่าควรมีตรงกลาง และไม่กระทบต่อการทำงานของภาครัฐ ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงสิทธิเด็ก เช่น การเผยแพร่ภาพเด็กที่มีสายระโยงระยางที่ผิดจริยธรรมสื่อชัดเจน

เรื่องการปกปิดข้อมูลของภาครัฐ เช่น การวางยาสลบเด็กควรเปิดเผยออกมา เพราะสื่อก็ต้องพยายามขุดคุ้ยข้อมูล ก่อนการแถลงข่าวครั้งสุดท้าย เอเอฟพีได้เจออดีตซีลที่ดูแลเด็ก และยืนยันว่ามีการวางยาเด็กไม่ให้ตกใจ เมื่อเราเสนอข่าวไปแล้ว มาถึงที่แถลงข่าวก็ตอบคำถามแบบอ้ำอึ้ง ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องภาพลักษณ์หรือไม่


 

ฐปนีย์ เอียดศรีไชย
ผู้ช่วย บก.รายการข่าวสามมิติ
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

กติกาที่กำหนดโดย ศอร. (ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย ในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย) ก่อนเจอเด็ก ยอมรับว่าเห็นด้วย ช่วงที่เจอเด็กเจ้าหน้าที่เริ่มจัดระเบียบ แต่ก็ยังเห็นด้วย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ชีวิตของ 13 คนในถ้ำ และชื่นชมการทำงานของศูนย์ในการวางแผนและปฏิบัติการ มีการซ้อมแผนโดยให้สื่อได้เห็นอย่างไม่ปกปิด ทำให้สื่อวางแผนรายงานข่าวง่ายขึ้น แม้ทุกคนอยากเห็นการทำงานในถ้ำ แต่ทุกสื่อก็ใช้ภาพจากส่วนกลางเพื่อให้ไปในทางเดียวกัน สิ่งที่ทุกคนตระหนักในการทำงาน คือความรู้สึกของครอบครัว แม้อยากสัมภาษณ์พ่อแม่ในเรื่องความรู้สึก แต่ตอนนั้นทุกคนเข้าใจว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตมีผลต่อความรู้สึก

เชื่อว่าด้วยห้วงเวลาการทำข่าวชิ้นนี้มีหลายช่วงเวลา ในช่วงแรกทุกคนอยากได้ข่าว อยากได้ภาพจากถ้ำ เป็นธรรมชาติของสื่อประชาชนเองก็อยากเห็น แรกๆ มีสื่อแอบเข้าไปกับเจ้าหน้าที่หรือฝากกล้องไปกับทีมกู้ภัย สุดท้ายได้ภาพมาก็เท่านั้น เพราะข้อมูลต้องมาจากการแถลง เราไม่จำเป็นต้องเอาภาพเร็ว แต่ต้องมีข้อมูลยืนยัน และคนดูก็เห็นด้วยเช่นนั้น สังเกตจากผู้ติดตามเพจไทยนาวีซีล จากหมื่นเป็นล้าน ท่ามกลางสื่อจำนวนมากและไลฟ์สดได้ แต่คนอยากได้ข้อมูลทางการ จึงตามจากเพจทางการมากกว่าสื่อหลัก นักข่าวเองก็เชื่อเพจทางการ

อย่างไรก็ตาม การปกปิดข้อมูลภาครัฐบางจุดมากเกินไปจริงๆ ต้องเข้าใจสภาพสื่อที่อยู่ในรัฐบาล คสช. มีการควบคุมเข้มข้น แต่เราปฏิบัติตามกฎได้ เพราะเป็นเรื่องช่วยชีวิตคน เรื่องการใช้ยา ทางการไทยไม่ได้ให้ข้อมูลกระจ่างชัด เพราะอาจมีขั้นตอนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ครั้งนี้มีการปกปิดข้อมูลน้อย เพราะมีการเปิดเผยมากพอสมควร ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ลำบาก


 

ดำรงเกียรติ มาลา
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ในทีมไปทำข่าวในพื้นที่เพียง 4 คน คือ นักข่าว ช่างภาพ 2 คน และผู้ช่วย โดยปกติบางกอกโพสต์ใช้ข่าวจากนักข่าวท้องถิ่น นักข่าวจากส่วนกลางจึงตามไปทีหลัง

ผมเริ่มไปที่โรงเรียนของเด็กแต่ละคน เพื่อหาช่องทางติดต่อครอบครัวเด็กจากครูประจำชั้น โดยให้ถามพ่อแม่ก่อนว่ายินดีหรือไม่ บางครอบครัวก็เชิญไปที่บ้านเลย เพราะคิดว่าหากเจอเด็กแล้วทุกสื่อจะต้องมุ่งไปที่บ้านเด็ก และครอบครัวเด็กต้องตอบคำถามซ้ำๆ คนที่ไปแรกๆ จะได้ข้อมูลที่สุด

สื่อส่วนใหญ่เคารพกติกาที่ภาครัฐตั้งไว้ อาจมีส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ไม่อยากให้เหมารวมว่าสื่อแตกแถวทั้งหมด คิดว่าส่วนใหญ่ยังเป็นสื่อน้ำดี ช่วงที่เริ่มมีกระแสโจมตีสื่อเวลาไปสัมภาษณ์ชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ ก็เตรียมใจล่วงหน้าแล้ว แต่พบว่าชาวบ้านเข้าใจและให้กำลังใจสื่อ เพราะคงเห็นการทำงานจริงที่เจอสถานการณ์ที่บีบคั้นทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ระหว่างการทำงานก็มีสื่อแอบเข้าไปในพื้นที่บริเวณ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้ได้ภาพชัดที่สุด หรือแฝงตัวเข้าไปในโรงพยาบาล สุดท้ายคนที่ฝ่าฝืนก็ไม่สามารถเผยแพร่ผลงานออกมาได้ด้วยกระแสสังคม

กรณีการฟังวิทยุสื่อสารของเจ้าหน้าที่นั้น ด้วยความที่สื่อต้องอัพเดตข้อมูลตลอดจากข้อมูลแต่ละจุด แต่เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นสีดำหรือสีเทา

ส่วนเรื่องญาติเด็กผมเองก็ได้สัมภาษณ์ แต่เลือกไม่นำเสนอในบางมุม เมื่อภาครัฐขอความร่วมมือไม่ให้เข้าไปยุ่งกับชีวิตประจำวันเด็ก เราเห็นบทเรียนว่ากระแสสังคมไม่ได้อยากรู้ลึกขนาดนั้น สื่อที่นำเสนอแง่มุมนั้นก็โดนตีกลับเช่นกัน

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้รับสาร ที่ผ่านมาสื่อบอกว่าตรวจสอบกันเองได้ ไม่ต้องการให้มาแทรกแซงการทำงานสื่อ เหตุการณ์ถ้ำหลวงสะท้อนให้เห็นว่าพลังผู้รับสารมีมากขนาดไหน สื่อต้องปรับตัวตามทุกกระแสที่ออกมา ความเร็วอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง การขายดราม่าหรือได้ข้อมูลที่อาจกระทบความรู้สึกประชาชนส่วนใหญ่ ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ฝากให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบสื่อต่อไป จะเป็นส่วนช่วยพัฒนาการทำงานของสื่อได้


 

เบญจพจน์ ทิพย์แสงกมล
ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

บทเรียนที่หลายๆ คนเจอ คือ นอกจากข้อมูลที่หายาก เพราะต้องใช้ข้อมูลทางการแล้ว ข้อมูลข้างเคียงที่อยู่ภายนอกก็เป็นสิ่งที่สื่อต่างๆ ต้องเข้าไปเจาะเพื่อนำเสนอ ทั้งเรื่องจิตอาสา เรื่องอาหาร เป็นต้น

ตามหลักการนำเสนอข่าว ไม่ควรมีความรู้สึกหรืออารมณ์อยู่ในนั้น แต่เหตุการณ์นี้คนทางบ้านเองคงรู้สึกไม่ต่างกัน ในฐานะผู้รายงานยอมรับว่าน้ำตาไหลวันที่เจอเด็ก เพราะได้เห็นพื้นที่ แตกต่างจากคนที่อยู่บ้าน หน่วยซีลจากที่เครียดทุกวันก็ผ่อนคลาย และทางกอง บก.ให้อิสระกับนักข่าว เพราะเชื่อว่าคุมสถานการณ์ข่าวได้ กำหนดทิศทางและอารมณ์ตัวเองได้

ช่วงที่ใกล้จะเจอเด็กก็มีคนไลฟ์สด เพราะมีเสียงประกาศว่าขอระดมเจ้าหน้าที่ 25 คน ไปที่ถ้ำ สื่อก็รายงานออกไป ทำให้หลายช่องโทรเช็กว่า นำเด็กออกมาจริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก่อนการรายงานต้องเช็กก่อนว่าระดมพลทำไม ต้องมีเจ้าหน้าที่ยืนยันถึงจะรายงานได้ ไทยพีบีเอสเรามีจริยธรรมองค์กร ต้องคำนึงถึงหลายอย่าง ต้องระมัดระวังมาก ทุกคนต้องรู้ตัวเอง

เรื่องสีเทา ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ เพราะการรายงานข่าวด้วยอารมณ์ความรู้สึกเป็นสถานการณ์ที่เร่งเร้าความรู้สึกคน บางช่วงบางตอนอาจมีใส่ไปบ้าง เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นตอนนั้น ส่วนการถ่ายภาพขณะนำเด็กออกมา ตามสิทธิแล้วไม่สามารถนำออกอากาศได้ เห็นด้วยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และเรามีจริยธรรมครอบอยู่ ส่วนการปกปิดเรื่องยานอนหลับ คิดว่าครอบครัวรอฟังอยู่ อาจกระทบความรู้สึก แต่ก็เปิดเผยเป็นกรณีศึกษาในครั้งต่อไป ถ้าหมอไม่พูด ความรู้ตายตามหมอไปก็จะไม่มีความรู้มาใช้ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image